xs
xsm
sm
md
lg

ขู่นายจ้างปล่อยต่างด้าวร่วม “หางแดง” ระวังแบล็กลิสต์ขอโควตาแรงงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
กรมจัดหางานขู่แบล็กลิสต์นายจ้างปล่อยแรงงานต่างด้าวร่วม “ม็อบหางเสื้อแดง” คาดโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับ 1 แสน แรงสุดระงับโควตาขอแรงงานต่างด้าว

นายจีระศักดิ์ สุคนธชาติ อธิบดีกรมจัดหางาน เปิดเผยถึงมาตรการป้องกันการขนแรงงานต่างด้าวเข้ามาชุมนุมกับกลุ่มเสื้อแดงว่า กระทรวงแรงงานได้เตรียมพร้อมที่จะจัดการกับแรงงานต่างด้าวที่ทำผิดกฎหมายอยู่แล้ว โดยเฉพาะการสั่งเจ้าหน้าที่แรงงานจังหวัดจับตาการเคลื่อนไหวของกลุ่มแรงงานต่างด้าวอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้เรื่องสิทธิการชุมนุมของแรงงานต่างด้าวหากเป็นไปตามขอบเขตของกฎหมายสามารถทำได้ เช่น การชุมนุมเรียกร้องเรื่องการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม แต่ถ้าหากเป็นการชุมนุมที่เกี่ยวข้องกับการเมืองหรือกระทบกับความมั่นคงของประเทศ ถือว่าผิดกฎหมาย ซึ่งจะถูกเพิกถอนสิทธิในการอยู่ในราชอาณาจักรตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมืองทันที โดยในมาตรา 81 คนต่างด้าวที่เดินทางมาในราชอาณาจักรโดยมิได้รับอนุญาต หรือการอนุญาตสิ้นสุดหรือถูกเพิกถอนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนกรณีนายจ้างที่ปล่อยให้แรงงานต่างด้าวออกไปร่วมชุมนุม หากสืบทราบว่ารู้เห็นเป็นใจด้วย จะมีความผิดตามมาตรา 63 ว่าด้วยการนำหรือพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร หรือกระทำการด้วยประการใดๆ ที่เป็นการอุปการะหรือช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกกับคนต่างด้าวให้เข้ามาในราชอาณาจักร โดยฝ่าฝืนกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท และในมาตรา 64 หากนายจ้างให้คนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองมาพักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใดๆ เพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุม มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 50,000 บาท

“จากนี้จะมีการรายงานการเคลื่อนไหวของกลุ่มแรงงานต่างด้าวไปยังผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัด เพื่อประสานกับกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีหน้าที่ดูแลความมั่นคงโดยตรง ทางกรมจัดการจัดหางานก็จะขึ้นบัญชีดำสถานประกอบการที่พบว่ามีส่วนรู้เห็นเป็นใจให้แรงงานต่างด้าวเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มเสื้อแดง โดยในการขอโควต้านำเข้าแรงงานต่างด้าวครั้งต่อไป อาจต้องมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด”

นายจีระศักดิ์กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ตัวเลขแรงงานต่างด้าวที่จดทะเบียนอยู่แล้วทั้งสิ้น 3.6 แสนคน และที่จดทะเบียนรอบใหม่ครั้งล่าสุดอีกจำนวน 1.5 ล้านคน โดยแยกเป็นแรงงานกัมพูชา 1.6 แสนคน และแรงงานลาวอีก 1.6 แสนคน ส่วนที่เหลือเป็นแรงงานสัญชาติพม่ามากสุด

อย่างไรก็ตาม จากที่มีข่าวว่ามีแรงงานต่างด้าวเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองหลายๆ ครั้งก่อนหน้านี้นั้น เมื่อกระทรวงเข้าไปตรวจสอบก็ไม่เคยพบว่ามีแรงงานต่างด้าวเข้าไปร่วมชุมนุมตามที่มีการกล่าวอ้างแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น