อย.เผยศูนย์เฝ้าระวังและรับเรื่องร้องเรียนผลิตภัณฑ์สุขภาพ รอบ 1 เดือน พบโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย โอ้อวดเกินจริงกว่า 100 รายการ ระบุจัดการแจ้งดำเนินคดีเอาผิดแล้ว
วันนี้ (18 พ.ย.) นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ได้รับรายงานจากศูนย์เฝ้าระวังและรับเรื่องร้องเรียนผลิตภัณฑ์สุขภาพของ อย.ซึ่งทำหน้าที่เฝ้าระวังการโฆษณาและรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ เช่น อาหาร ยา เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ ในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา พบว่า มีผู้ร้องเรียน จำนวน 87 เรื่อง จำแนกเป็นอาหาร 49 เรื่อง ยา 19 เรื่อง เครื่องสำอาง 10 เรื่อง เครื่องมือแพทย์ 3 เรื่อง วัตถุอันตราย 1 เรื่อง เป็นต้น
นพ.พิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ส่วนผลงานการดำเนินงานเฝ้าระวังการโฆษณา ซึ่งมีการตรวจสอบการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพจากสื่อต่างๆ ได้แก่ เคเบิลทีวี ฟรีทีวี อินเทอร์เน็ต วิทยุ และนิตยสาร ตลอด 24 ชั่วโมง พบการโฆษณาที่สงสัยว่าไม่ได้รับอนุญาตจาก อย.หรือโฆษณาเกินจริง จำนวน 125 รายการ แบ่งเป็น การโฆษณาอาหาร 54 รายการ เครื่องสำอาง 42 รายการ ยา 18 รายการ เครื่องมือแพทย์ 10 รายการ และวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท 1 รายการ ซึ่งโฆษณาอาหารที่ไม่ได้รับอนุญาตจากเว็บไซต์ เช่น ผลิตภัณฑ์ประเภทลูกอม ที่อวดอ้างอมแล้วผอมเพรียวได้ดั่งใจ ประเภทยา จากรายการทางเคเบิลทีวี โฆษณา เกินจริงว่า เป็นยาบำรุงร่างกาย เป็นยาแผนโบราณ มีสรรพคุณฟื้นฟูตับไต บำรุงระบบเลือดกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนเพศชาย เป็นต้น ประเภทเครื่องสำอาง มีการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณว่า หน้าใส เด้ง ไร้ริ้วรอย มอบความมหัศจรรย์แห่งผิวหน้า ดูอ่อนกว่าวัย เป็นต้น
สำหรับการโฆษณาเกินจริงที่เกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์ที่ตรวจพบทางนิตยสาร เช่น เข็มขัดกระชับสัดส่วน มีรังสีอินฟราเรด สามารถทำงานได้เข้าไปลึกถึงไขมันชั้นในและมีการนวดเหมือนพายุหมุนไซโคลน ใครลองลดหุ่นหลายวิธีแล้วไม่สำเร็จลองวิธีนี้ดู เป็นต้น และอีกหลายเนื้อหาข้อความที่สื่อถึงการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง โดย อย.ได้ดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดแล้ว
เลขาธิการ อย.กล่าวด้วยว่า ในส่วนการทำงานของศูนย์เฝ้าระวังฯ เมื่อได้รับเบาะแสจากการเฝ้าระวังและการรับเรื่องร้องเรียน จะรวบรวมและประมวลเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลปัญหาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพเสนอผู้บริหาร รวมทั้งส่งต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการ กรณีเป็นเรื่องที่มีผลกระทบหรือปัญหารุนแรง หรือเป็นเรื่องเชิงนโยบาย จะส่งให้ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ (ศปป.) ดำเนินการตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ โดยจะดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดอย่างเข้มงวด
“ขอให้ประชาชนผู้บริโภคอย่าได้หลงเชื่อการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพโอ้อวดสรรพคุณ ทั้งช่วยลดน้ำหนัก ทำให้ร่างกายผอมเพรียว รักษาได้สารพัดโรค ทำให้หน้าใสอ่อนกว่าวัย ตามที่กล่าวข้างต้น ขอให้สงสัยไว้ก่อน และสอบถามหรือแจ้งร้องเรียนไปยังศูนย์เฝ้าระวังและรับเรื่องร้องเรียนผลิตภัณฑ์สุขภาพนี้ได้ โดยมีหลายช่องทาง ที่ อย.เปิดบริการให้ประชาชนอยู่ในขณะนี้ ได้แก่ สายด่วน อย.1556 จดหมาย/หนังสือ ผ่าน ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 อีเมลที่ 1556@fda.moph.go.th หรือมาร้องเรียนด้วยตนเอง ที่ศูนย์เฝ้าระวังและรับเรื่องร้องเรียนผลิตภัณฑ์สุขภาพ อาคาร 1 ชั้น 1 ตึก อย.” นพ.พิพัฒน์ กล่าว