xs
xsm
sm
md
lg

องค์กรหมอไร้พรมแดนชวนร่อนอีเมลดึงบิ๊ก บ.ยาร่วมแชร์สิทธิบัตรยารักษาเอดส์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


องค์กรหมอไร้พรมแดนชวนคนไทยส่งอีเมลชวนบริษัทยาต้นตำรับ 9 แห่งทั่วโลก เข้าร่วมแชร์สิทธิบัตรยาจำเป็น ให้ผู้ผลิตยาสามัญ-นักวิจัยใช้ข้อมูลสิทธิบัตรพัฒนายาเอดส์สูตรหลายขนานและสำหรับเด็ก

น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานโครงการร่วมระหว่างฝ่ายรณรงค์เข้าถึงยาจำเป็น องค์การหมอไร้พรมแดน และแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ยูนิเทด ซึ่งเป็นองค์กรระดับพหุภาคีภายใต้องค์การอนามัยโลกที่สนับสนุนเงินในการจัดซื้อยารักษาโรค ได้จัดตั้งระบบร่วมใช้สิทธิในสิทธิบัตร ยาต้านไวรัสเอดส์ หรือ แพเทนต์ พูล (Patent Pool) โดยเชิญชวนให้บริษัทยาต้นตำรับ 9 แห่งจากทั่วโลกมาร่วมในระบบดังกล่าว เพื่อให้ผู้ผลิตยาสามัญและนักวิจัยสามารถนำสิทธิบัตรยาที่อยู่ในระบบนี้สามารถนำไปผลิตหรือวิจัยต่อยอดเป็นยาใหม่ โดยบริษัทต้นตำรับจะได้รับค่าชดเชยสิทธิบัตรที่เหมาะสม

น.ส.กรรณิการ์ กล่าวต่อว่า ในช่วงกลางเดือน ธ.ค.นี้ ทางยูนิเทดจะหารือกัน เพื่อตัดสินใจว่าจะเดินหน้าแพเทนต์ พูล ต่อไปหรือไม่ ดังนั้น ในฐานะเครือข่ายด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศจึงได้เชิญชวนให้ร่วมกันแสดงเจตจำนงด้วยการส่งอีเมลมายัง http://www.actionforsfacess.org ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป โดยการกรอกข้อมูลในเว็บนี้จะส่งไปยังบริษัทยาชั้นนำของโลก เพื่อเรียกร้องให้นำสิทธิบัตรยาต้านไวรัสเอดส์เหล่านั้นที่ถือครองอยู่มาร่วมอยู่ในระบบนี้ เพื่อให้เกิดการผลิตยาสามัญ หรือเพิ่มนวัตกรรมใหม่ๆจากการวิจัยที่สามารถเข้าถึงสิทธิบัตรยาได้ ทั้งนี้โครงการนี้ได้เริ่มตั้งแต่เดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ขณะนี้มีประชาชนทั่วโลกร่วมกันส่งอีเมลไปยังผู้บริหารของบริษัทยาต้านไวรัสเอดส์ต้นตำรับแล้วกว่า 2.5 หมื่นฉบับ

“นอกจากจะเป็นการแสดงพลังเพื่อให้ยูนิเทดมีมติเดินหน้าโครงการดังกล่าวต่อไปแล้ว อีเมลเหล่านี้ยังส่งไปถึงบริษัทยาสาขาใหญ่และสาขาในไทยให้สมัครใจเข้าร่วมโครงการนี้ด้วย ในส่วนของประเทศไทย เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้เพิ่มอีก 1 บริษัท ได้แก่ บริษัท โรช เข้าไปด้วย โดยในวันที่ 30 พ.ย.จะเดินทางไปยื่นจดหมายกับบริษัทยาต้นตำรับยาต้านไวรัสเอดส์แห่งหนึ่งที่เป็นสาขาในประเทศไทย ก่อนวันเอดส์โลกคือวันที่ 1 ธ.ค. เพื่อให้เข้าร่วมระบบนี้”น.ส.กรรณิการ์ กล่าว

ด้าน นายพอล คอว์ธอร์น เจ้าหน้าที่รณรงค์เข้าถึงยาจำเป็น ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกขององค์การหมอไร้พรมแดน กล่าวว่า เหตุผลที่บริษัทยาต้นตำรับสนใจกับระบบดังกล่าว เนื่องจากระบบนี้จะเป็นการลดการเผชิญหน้าอย่างที่เผชิญอยู่ อย่างประกาศบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (ซีแอล) หรือแม้แต่การที่ราคายามีราคาสูงจนหลายประเทศมีการนำเรื่องขึ้นศาลเพื่อให้ยกเลิกสิทธิบัตร และที่สำคัญระบบแพเทน พูลจะสามารถรักษาการจำหน่ายยาในประเทศที่พัฒนาแล้ว

“นอกจากนี้ ที่ผ่านมาบริษัทยาต้นตำรับต้องบริจาคยาในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศยากจนเป็นจำนวนมาก หากบริษัทยาต้นตำรับนำสิทธิบัตรยาที่มีอยู่ในให้บริษัทยาสามัญผลิต ก็จะไม่ต้องบริจาคยาอีกต่อไป เนื่องจากยามีราคาถูกสามารถเข้าถึงได้ และยังได้ค่าชดเชยสิทธิบัตรอีก โดยบริษัทยาต้นตำรับไม่เสียอะไรเลย ขณะเดียวกันระบบนี้จะทำให้เกิดการพัฒนาสูตรยา เช่นยาสูตรรวมเม็ดสามขนาน และยาสูตรสำหรับเด็ก จึงเป็นโอกาสที่ดีที่บริษัทยาจะแสดงเจตนารมณ์และมุ่งมั่นให้ประชานในประเทศยากจนและกำลังพัฒนาได้เข้าถึงยาอย่างที่บริษัทยาตั้งใจดำเนินการ”นายพอลกล่าว

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีบริษัทยาต้นตำรับหลายแห่งเริ่มให้ความสนใจ แต่ยังไม่มีบริษัทมีความชัดเจน แต่ก็มีความสนใจมากขึ้น เนื่องจากสหรัฐอเมริกากำลังมีการปฏิรูประบบประกันสุขภาพ จึงเป็นเหตุให้บริษัทยาต้นตำรับต้องแสดงท่าทีใดๆ จึงมีความเป็นไปได้ว่าระบบแพเทนต์ พูล น่าจะได้รับความยอมรับ

“หากยูนิเทดมีมติในการประชุมกลางเดือน ธ.ค.เดินหน้าระบบแพเทนต์ พูล ต่อไป สิ่งที่สำคัญต่อมา คือ การหารือในรายละเอียด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปริมาณค่าชดเชย การให้ประเทศกำลังพัฒนาได้เข้าร่วมอยู่ในประเทศที่สามารถใช้สิทธิจากสิทธิบัตรที่นำมาร่วมกันได้ เพราหากเป็นประเทศที่ยากจนเท่านั้น จะมีศักยภาพในการผลิตหรือไม่ รวมถึงการหารือในรายละเอียดให้บริษัทยาต้นตำรับนำสิทธิบัตรยาในรายการที่จำเป็นกับผู้ป่วยมาแชร์ ไม่ใช่นำสิทธิบัตรยาตัวเก่าหรือยาที่มียาสามัญและผู้ป่วยเข้าถึงได้อยู่แล้วมาอยู่ในระบบแพเทนต์ พูล ซึ่งในส่วยรายละเอียดนี้จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี”

นายพอล กล่าวว่า ทั้งนี้จึงเรียกร้องให้รัฐบาลทุกประเทศ รวมถึงไทยแสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมในจุดนี้ด้วย เพราะในฐานะที่ไทยเป็นประเทศอยู่ในระดับปานกลาง และมีองค์การเภสัชกรรมรวมถึงอุตสาหกรรมผลิตยาสามัญภายในประเทศมีศักยภาพ ซึ่งหากได้เข้าร่วมในระบบนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการเข้าถึงยาของผู้ป่วยทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศยากจนที่ไม่สามารถผลิตยาได้เอง


อนึ่ง บริษัทยา 10 แห่งที่ส่งอีเมลถึง คือ 1.บริษัท แอบบอต ลาบอแรตอรี่ จำกัด 2.บริษัท โบห์รินเกอร์ อินเกอฮาร์ม จำกัด 3.บริษัท บริสตอล ไมเยอร์ สควิบบ์ จำกัด 4.บริษัท แกล็คโซ สมิธ ไคลน์ จำกัด 5.กลิลีด ไซน์ส จำกัด 6.บริษัท เมิร์ค จำกัด 7.บริษัท ไฟเซอร์ จำกัด 8.บริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน จำกัด 9.บริษัท เซควอยา จำกัด ส่วนบริษัทที่ 10.บริษัท โรช จำกัด เป็นบริษัทที่ผู้ป่วยไทยขอเพิ่มเรียกร้องอีกแห่ง

กำลังโหลดความคิดเห็น