xs
xsm
sm
md
lg

“หมอประเวศ” แนะเปิดพื้นที่สื่อสร้างสรรค์ให้เด็ก-เยาวชนตั้งแต่ระดับหมู่บ้านถึงระดับชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
“หมอประเวศ” แนะภาครัฐและภาคีเปิดพื้นที่สื่อสร้างสรรค์สำหรับเด็กเยาวชนตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล จังหวัดและถึงระดับชาติ ขณะที่ รมว.วัฒนธรรม เผยสื่อยังขาดจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งเรื่องเพศ ภาษา และความรุนแรง เร่งร่างกฎหมายสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ปาฐกถาเรื่อง “ปฏิรูปประเทศไทย ด้วยสื่อสร้างสรรค์เพื่อเด็กและเยาวชน” ในงานมหกรรมสื่อสร้างสรรค์เพื่อเด็ก และเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 1 “พลังภาคี หนุนกองทุนสื่อดี เพิ่มพื้นที่สื่อสร้างสรรค์” จัดโดยแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยกล่าวว่า สื่อสร้างสรรค์เพื่อเด็กและเยาวชน ภาครัฐและองค์กรภาคีต้องเข้ามีส่วนร่วมเพื่อเปิดพื้นที่ให้เด็กได้รับสื่อที่ดี โดยเริ่มที่ฐานของสังคม ตั้งแต่ 1.ระดับหมู่บ้าน โดยส่งเสริมให้เด็กรักการอ่าน ควรสนับสนุนให้เด็กได้อ่านและจัดสร้างห้องสมุดหมู่บ้าน 2.ทุกตำบลจะต้องมีศูนย์การเรียนรู้ระดับตำบล โดยองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 3.ทุกตำบลต้องมีงานวิจัย เพื่อเด็กเละเยาวชนได้เรียนรู้ถึงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของตัวเอง และมีพิพิธภัณฑ์ตำบลไว้เป็นแหล่งเรียนรู้ และสร้างศูนย์ศิลปวัฒนธรรม 4.สร้างศูนย์กีฬาเป็นแหล่งนันทนาการ 5.ศูนย์การเรียนรู้พิเศษระดับชุมชน

นอกจากนี้ ควรสร้างสรรค์พื้นที่สื่อดีระดับจังหวัด ซึ่งมีวิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ จะต้องเป็นภาคีร่วมเครือข่ายเพื่อเปิดพื้นที่สื่อที่ดีสำหรับเยาวชน ขณะดียวกันในระดับชาติ ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต สื่อภาพยนตร์ โดยเฉพาะทีวีควรจัดเวลาให้เหมาะสมกับเยาวชนได้ซึมซับ นำเสนอสารคดีและสิ่งที่ดี ๆ อย่างไรก็ตาม การจัดพื้นที่สื่อสร้างสรรค์เพื่อเด็กและเยาวชนจะต้องมีสถาบันการศึกษาร่วมด้วย เพื่อเป็นการสร้างศูนย์ความรู้เพื่อเด็กและเยาวชน

ด้าน นายธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนาธรรม (วธ.) กล่าวว่า จากการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างรวดเร็วในยุคข้อมูลข่าวสารไร้พรมแดนในทศวรรษนี้ สื่อเป็นกลไกเป็นช่องทางสื่อสารข้อมูลที่มีศักยภาพในการเผยแพร่ แต่ในทางกลับกัน พบว่าการนำเสนอข้อมูลข่าวสารในประเด็นเนื้อหา และเรื่องราวของสื่อบันเทิง ผู้ประกอบการขาดจริยธรรมและตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ทำให้สังคมโดยรวมเกิดพฤติกรรมลอกเลียนแบบ ที่ขัดต่อบรรทัดฐานที่ดีงามของสังคม ทั้งในมิติเรื่องเพศ ภาษา และความรุนแรง ที่อยู่ในสื่อทุกประเภท เช่น ภาพยนตร์ วิทยุ โทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ โทรศัพท์มือถือ เกม และอินเทอร์เน็ต ซึ่งในส่วนของรัฐบาลโดย วธ. ได้มีนโยบายแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ ทั้งทางกฎหมาย และความร่วมมือจากภาคประชาสังคม รวมถึงการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แห่งชาติ ซึ่งขณะนี้กำลังร่างกฎหมาย รวมถึงการจัดตั้งกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เพื่อเสนอต่อรัฐบาล คาดว่าจะเป็นรูปธรรมในเร็วๆ นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น