นักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลก เผยผลประเมินการศึกษานานาชาติปี' 42-50 ด้านคณิตศาสตร์ ม.2 เด็กไทยมีแนวโน้มลดลง เหตุความแตกต่างของฐานะ เด็กในเมือง-ชนบทห่างชั้นกันเยอะ ขณะที่ภายในเมืองกรุง พบผลประเมินด้านคณิตศาสตร์เด็กเทียบเท่าอเมริกา ด้านอดีต รมช.ศธ.ประเทศเกาหลี แนะไทยให้ความสำคัญกับครู สรรหาคนดี เก่ง อัดเงินเดือนสูงๆ เชื่อเห็นผลเร็ว ทำผลสัมฤทธิ์การเรียนการสอนดีขึ้น สพฐ.รับพร้อมนำไปศึกษา
วันนี้ (12 พ.ย.) ที่โรงแรมรอยัลปริ๊นเซส หลานหลวง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมกับธนาคารโลก (WORLD BANK) และองค์การยูเนสโก จัดประชุมปฏิบัติการในหัวข้อ “การพัฒนาความเสมอภาคและคุณภาพการศึกษาของประเทศไทย จากมุมมองของนานาชาติ” เพื่อหาแนวทางการยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย โดย นายสมเกียรติ ชอบผล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุม ว่า ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยพิจารณาจากตัวแปรและปัจจัยที่เกี่ยวข้องในกรณีของหลายประเทศ โดย Mr.Kevin Macdonald นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก ได้ให้ความสนใจเรื่องเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างเด็กไทยในเมืองกับชนบท ซึ่งก็เป็นที่น่ายินดีเมื่อข้อมูลระบุว่า เด็กไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ใกล้เคียงกับเด็กในสหรัฐอเมริกา แต่เมื่อนำเด็กชนบทมาเปรียบเทียบด้วย ส่งผลให้ระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำลง
นายสมเกียรติ กล่าวต่อว่า ในส่วนของ Mr.Gwang-Jo Kin ผู้อำนวยการองค์การยูเนสโกประจำกรุงเทพมหานคร และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการประเทศเกาหลี ได้นำเสนอตัวอย่างการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ชัดเจน และมีประสิทธิภาพของประเทศเกาหลี ซึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องของครูเป็นหลัก โดยเริ่มจากการสรรหาคนดี คนเก่งเข้ามาเป็นครู ให้เงินเดือนสูง และท้าทาย ซึ่งจุดนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเห็นผลชัดเจนมาก โดยผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของประเทศเกาหลีขึ้นมาอยู่ในลำดับต้นๆ เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ขณะเดียวกัน ประเทศเกาหลีมีความมุ่งมั่นที่จะนำการเรียนรู้ไปสู่ผู้เรียนอย่างแท้จริงด้วย อย่างไรก็ตาม ข้อมูลการนำเสนอในครั้งนี้ สพฐ.จะนำไปสู่การปรับปรุงพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของไทยให้ดีขึ้นต่อไป
ด้าน นายเควิน แมคโดนัลด์ (Mr.Kevin Macdonald) นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก กล่าวว่า จากผลการประเมินความสามารถด้านคณติศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ในโครงการประเมินสมาคมการประเมินผลการศึกษานานาชาติ Trends in International Mathematics and Science Study (TIMSS) ช่วงปี 2542-2550 นั้นพบว่า มีแนวโน้มลดลง ซึ่งในปี 2542 ประเทศไทยมีนักเรียนชั้น ม.2 ประมาณ 7 แสนกว่าคน ผ่านการประเมินด้านคณิตศาสตร์ตามมาตรฐานที่กำหนด 45% แต่ในปี 2550 จำนวนนักเรียนชั้นม.2 เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 8 แสนกว่าคน แต่ผลการประเมินด้านคณิตศาสตร์กลับลดลงโดยมีนักเรียนผ่านประเมินตามมาตรฐานเหลือ 34% ทั้งนี้จาการศึกษาพบว่ามีความแตกต่างกันระหว่างคนจนกับคนรวยและคนในเมืองกับคนชนบทมาก
ขณะที่ผลการประเมินของTIMSS ของนักเรียนในกรุงเทพฯ มีคะแนนที่ใกล้เคียงกับประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ จากผลการประเมินด้านความสามารถทางการอ่านของประเทศไทยยังพบความแตกต่างระหว่างนักเรียนในเขตเมืองกับนักเรียนในต่างจังหวัดก็มีความแตกต่างเช่นเดียวกัน โดยความแตกต่างที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากฐานะ โอกาส และความพร้อมของสถานศึกษาซึ่งหากมีการปรับปรุงระบบการเรียนการสอนและการเรียนของนักเรียนในชนบทให้ใกล้เคียงกับการศึกษาในเมืองก็จะทำให้เกิดความผลลัพธ์ที่ดีขึ้น