นักวิชาการชี้ น้ำฝนอาจไม่เหมาะกับการบริโภค เพราะการขยายตัวของเขตเมือง และอุตสาหกรรมในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ส่งผลให้น้ำฝนมีสภาพเป็นกรด เป็นด่าง อีกทั้งยังมีสารปนเปื้อนสูงด้วย
ผศ.สุนทรี ขุนทอง จากคณะทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา เปิดเผยว่า จากการเก็บตัวอย่างน้ำฝนตลอดระยะเวลา 12 เดือน ในเขตพื้นที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ครอบคลุมพื้นที่แหลมฉบัง พบว่า น้ำฝนที่เก็บได้มีค่าความเป็นกรดเพิ่มขึ้น เฉลี่ย 4 กว่าๆ จากค่าความเป็นกรดด่างของน้ำฝนที่ มีค่าเฉลี่ยที่ 5.6
ทั้งนี้ ค่าความเป็นกรดของน้ำฝนที่สูงขึ้น เนื่องจากบริเวณที่เก็บตัวอย่างเป็นพื้นที่ที่ล้อมรอบด้วยอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อาทิ นิคมแหลมฉบัง โรงกลั่นน้ำมันบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) โรงกลั่นน้ำมันบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) โรงกลั่นน้ำมันเอสโซนิคม อุตสาหกรรมสหพัฒน์ นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง เป็นต้น ประกอบกับแถวถนนสุขุมวิทที่มีการจราจรคับคั่งในช่วงเช้าและเย็นด้วย จึงมีส่วนที่น้ำฝนจะเป็นกรดสูง
ส่วนการเก็บตัวอย่างน้ำฝนในพื้นที่มาบตาพุด หลังจากมีการร้องเรียนปัญหาน้ำในบริโภคไม่ได้ และพืชผลที่เสียหายจากน้ำในที่ตกลงมาจนใบหงิกงอ เพื่อนำมาวิเคราะห์ หาตัวอย่างของสารที่ปนเปื้อนในน้ำฝน ต้องใช้ระยะเวลา 1 ปี จึงจะวิเคราะห์และประมวลผลได้ โดยผลที่ออกมาจะใช้เป็นข้อมูลเฝ้าระวังเพื่อใช้ในการควบคุม และการวางแผนขยายโรงงานในพื้นที่ต่อไป
ผศ.สุนทรี กล่าวอีกว่า หลายพื้นที่ทั่วประเทศของไทย พบว่า น้ำฝนไม่เหมาะสมกับการนำมาใช้ดื่มกินได้อย่างบริสุทธิ์เหมือนในอดีตแล้ว เนื่องจากมีการขยายตัวของอุตสาหกรรม และความเจริญเติบโตของเมืองที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้น้ำฝนทั่วประเทศไม่เพียงแต่แนวโน้มที่มีค่าความเป็นกรดสูงเท่านั้น แต่ยังรวมเอามลพิษอื่นๆ อยู่ในน้ำใน เช่น จ.พระนครศรีอยุธยา น้ำฝนมีค่าความเป็นด่างมากผิดปกติ เพราะอยู่ใกล้โรงปูนซีเมนต์ ส่วน จ.เชียงใหม่ มีปริมาณฝุ่นละอองสูงเพราะต้องเจอกับปัญหาหมอกควันอย่างต่อเนื่อง ขณะที่พื้นที่เกษตรกรรม น้ำในจะมีการตรวจพบสารฟอสเฟต แอมโมเนียสูง เช่น กรณี จ.สงขลา จะมีการปนเปื้อนของแอมโมเนียสูง เพราะมีอุตสาหกรรมน้ำยางพารา เป็นต้น ทั้งนี้ เชื่อว่า อนาคตสังคมชนบทที่เคยรองน้ำฝนไว้บริโภคเก็บในโอ่ง คงจะต้องเลิกไปในที่สุด