xs
xsm
sm
md
lg

ปลัด สธ.เผยน้ำท่วมใต้ 3 วัน ป่วยกว่า 1 พันคน เป็นหวัด-น้ำกัดเท้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.เผยตลอด 3 วัน พบผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคใต้ป่วย แล้วเกือบ 1,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นหวัด น้ำกัดเท้า ส่งจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ดูแลวันละไม่ต่ำกว่า 60 ทีม ที่ จ.ยะลาวันนี้ 2 ทีม ที่ อ.บันนังสตา และอ.เมือง  แนะประชาชนหากเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถโทรแจ้ง 1669 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งให้สาธารณสุขจังหวัดเฝ้าระวังโรคที่อาจตามมาหลังน้ำลดเช่น โรคอุจจาระร่วง โรคฉี่หนู

นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดสธ.
นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ภาคใต้ว่า นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ประสบภัย จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่บริการผู้ประสบภัยและแจกยาสามัญประจำบ้านต่อเนื่องทุกวัน วันละไม่ต่ำกว่า 60 ทีม และให้ทุกจังหวัดประชาสัมพันธ์ แนะนำวิธีการปฏิบัติตัวของผู้ประสบภัย เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยระหว่างน้ำท่วมผ่านสื่อประจำท้องถิ่นทุกวัน ในส่วนกลางได้สำรองยาสามัญประจำบ้านไว้จำนวน 300,000 ชุด พร้อมส่งสนับสนุนจังหวัดทันที โดยที่จ.ยะลาวันนี้ได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่บริการประชาชนที่บันนังสตา และอ.เมือง

“ผลการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ที่ผ่านมา 3 วัน ในเบื้องต้น พบประชาชนเจ็บป่วยแล้วกว่า 1,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัด และน้ำกัดเท้า ไม่มีรายใดมีอาการหนัก ได้ให้โรงพยาบาลทุกแห่งจัดหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน พร้อมให้บริการประชาชน หากประชาชนเจ็บป่วยฉุกเฉิน เช่น ถูกงูกัด หรือสัตว์มีพิษกัด สามารถโทรแจ้งหน่วยแพทย์ฉุกเฉินทางหมายเลข 1669 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง” นพ.ไพจิตร์กล่าว

นพ.ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขเฝ้าระวังโรคอย่างต่อเนื่องไปจนถึงหลังน้ำลด โดยยังมีโรคที่ดูแลใกล้ชิดได้แก่ โรคอุจจาระร่วง โรคฉี่หนู ซึ่งมักเกิดหลังน้ำท่วม โดยเฉพาะโรคฉี่หนู มีหนูเป็นตัวแพร่โรค เชื้อจะออกมากับปัสสาวะหนูแล้วปนเปื้อนอยู่ในน้ำท่วมขัง ตามพื้นดินที่ชื้นแฉะได้นาน และเข้าสู่ร่างกายคนทางบาดแผล หรือรอยถลอก รอยขีดข่วน หรือไชเข้าผิวหนังที่แช่น้ำนานๆ รวมทั้งติดจากการกินอาหารที่หนูฉี่รด โดยจะมีอาการป่วยหลังติดเชื้อประมาณ 4-10 วัน อาการสำคัญของโรคนี้ได้แก่ไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะและปวดกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะที่น่องและโคนขา หรือปวดหลัง บางรายจะมีตาแดงด้วย หากมีอาการป่วยหลังลุยน้ำ ย่ำโคลน ต้องรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล หรือหน่วยแพทย์ในพื้นที่ทันที มียารักษาหายขาด

“ในการป้องกันโรคดังกล่าวขอให้ประชาชนสวมรองเท้าบู้ทยางกันน้ำ หากต้องลุยน้ำ ย่ำโคลน โดยเฉพาะผู้ที่มีบาดแผล หลีกเลี่ยงการแช่น้ำ เมื่อขึ้นจากน้ำแล้วให้อาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดโดยเร็วที่สุด รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ และเก็บอาหารในภาชนะที่มิดชิด” นพ.ไพจิตร์กล่าว

สำหรับความเสียหาย มีสถานบริการสาธารณสุขถูกน้ำท่วม 6 แห่งอยู่ที่จังหวัดสงขลาทั้งหมด ได้แก่ โรงพยาบาลสะเดา น้ำท่วมที่บริเวณโรงครัว ห้องประชุม และบ้านพัก สูง 70 เซนติเมตร โรงพยาบาลคลองหอยโข่ง ท่วมที่โรงซักฟอก ระดับสูง 30-50 เซนติเมตร และโรงพยาบาลสมเด็จฯ นาทวี น้ำท่วมบ้านพัก สถานีอนามัยตำบลวังบวก อ.นาทวี ท่วมที่อาคารบริการชั้นล่างระดับสูงประมาณ 40 เซนติเมตร สถานีอนามัยตำบลทุ่งคำเสา อ.นาทวี น้ำท่วมที่คลินิกแพทย์แผนไทย อุปกรณ์บริการเสียหายบางส่วน และที่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอนาทวี น้ำท่วม 30 เซนติเมตร ขณะนี้น้ำลดแล้ว สามารถให้บริการได้ตามปกติ อยู่ระหว่างการประเมินความเสียหาย
กำลังโหลดความคิดเห็น