“วิทยา” ลั่นไทยไม่ตกเป็นเครื่องมือบริษัทบุหรี่เด็ดขาด สั่งห้ามหน่วยงานสังกัด สธ.ยุ่งเกี่ยวกิจกรรม รับเงินสนับสนุนจากบริษัทบุหรี่ สั่งเจ้าหน้าที่กรมควบคุมโรคเข้มงานเอ็กซ์โปบุหรี่ พบทำผิดกฎหมายแจ้งตำรวจจับทันที
จากกรณีที่ เครือข่ายข่ายต้านภัยเอ็กซ์โปบุหรี่ (Thai Network against Tabinfo Asia 2009) ร่วมกับ 476 องค์กรร่วมกันคัดค้านการจัดงานเอ็กซ์โปบุหรี่ ในวันที่ 11-13 พฤศจิกายน 2552 ที่อิมแพค เมืองทองธานี ด้วยการยื่นรายชื่อจำนวน 43,944 คน ถึงนายกรัฐมนตรีผ่านทางนายอิสรา สุนทรวัฒน์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และเรียกร้องให้นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แสดงจุดยืนให้เห็นว่า ประเทศไทยคัดค้านการที่อุตสาหกรรมยาสูบใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการวางแผนส่งเสริมและขยายตลาดบุหรี่ โดยเฉพาะในหมู่เยาวชนและสตรีของเอเชียและของโลก
วันที่ 4 พ.ย.นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ว่า ตนได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรค (คร.) ติดตามการดำเนินกิจกรรมของงานงานเอ็กซ์โปบุหรี่ Tabinfo Asia 2009 ในประเทศไทยอย่างเข้มงวด โดยให้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบภายในงานตลอดช่วงเวลาของการจัดงาน ถ้าพบการกระทำที่ผิดกฎหมายให้ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจสภอ.นนทบุรีเข้าจับกุมเพื่อดำเนินการตามกฎหมายทันที
นายวิทยา กล่าวต่อว่า ตนได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรมของงานดังกล่าว รวมถึง หน่วยงานภาครัฐส่วนอื่นๆ ก็ไม่ควรรับเงินทุนสนับสนุนการดำเนินงานจากบริษัทบุหรี่ด้วย สำหรับกรณีที่โรงงานยาสูบเข้าร่วมในการจัดงานครั้งนี้ด้วยนั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้มอบให้กระทรวงการคลังเข้าไปตรวจสอบดูแลในเรื่องนี้แล้ว
“บริษัทบุหรี่พยายามมาตลอดที่จะเข้ามาใช้เมืองไทยเป็นฐานในการวางแผนส่งเสริมและขยายตลาดบุหรี่ แต่ประเทศไทยมีการตรวจสอบและการรณรงค์ภาคประชาชนที่เข้มแข็ง ทำให้การดำเนินการของบริษัทบุหรี่กระทำได้ยาก และผมขอยืนยันว่า ประเทศไทยจะไม่ตกเป็นเครื่องมือของบริษัทบุหรี่เป็นอันขาด ถ้าพบมีการกระทำความผิด ผมจะดำเนินการจับกุมเอง เพราะยิ่งออกมาเรียกร้องก็เหมือนเป็นการไปประชาสัมพันธ์งานให้กับบริษัท” นายวิทยา กล่าว
ด้านนพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ ผู้อำนวยการสำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กล่าวว่า กฎหมายที่กระทรวงสาธารณสุขใช้ควบคุมการจัดงานเอ็กซโปบุหรี่ข้ามชาติครั้งนี้ ได้ส่งให้ผู้จัดการอิมแพค เมืองทองธานีแล้ว มี 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 ซึ่งมีข้อห้ามหลายประการ เช่น ห้ามนำผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ไม่มีภาพคำเตือนเข้ามาในราชอาณาจักร มีโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท ไม่ให้มีการแจกจ่ายผลิตภัณฑ์ยาสูบในลักษณะที่เป็นตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ยาสูบ ห้ามไม่ให้มีการเสนอให้สิทธิต่างๆ แก่ผู้ซื้อผลิตภัณฑ์ยาสูบหรือการแลกเปลี่ยนแลกซื้อ มีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท ห้ามโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาสูบด้วยวิธีการใดๆ เช่น การทำโปสเตอร์ แผ่นปลิว วิดีทัศน์ รวมถึงการวางแสดงผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกชนิดในการจัดแสดงนิทรรศการหรือจัดประชุมวิชาการ รวมถึงการใช้เครื่องหมายหรือยี่ห้อผลิตภัณฑ์ยาสูบไปติดไว้กับผลิตภัณฑ์อื่น มีโทษปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หากผู้ฝ่าฝืนเป็นผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าเอง ต้องระวางโทษเป็น 2 เท่า
ส่วน พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 เช่น ห้ามสูบบุหรี่ในห้องปรับอากาศ เนื่องจากอิมแพคเมืองทองธานีถือเป็นเขตปลอดบุหรี่ทั้งหมด ไม่มีข้อยกเว้นให้จัดห้องสูบบุหรี่หรือเขตสูบบุหรี่ หากมีการสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ จะมีความผิด ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2 พันบาท