สบศ.จัดโขน-ลิเกยิ่งใหญ่เทิดพระเกียรติในหลวง วันที่ 3-7 ธ.ค.นี้ แบ่งเค้กไทยเข้มแข็งได้ 35 ล้านหนุนนักเรียนนาฏศิลป์ 4 ภาคจัดการแสดง หวังฟื้นฟูวัฒนธรรมท้องถิ่น-เรียนรู้ศิลปะภูมิภาคอื่น
วันนี้ (28 ต.ค.) นายกมล สุวุฒโฑ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (สบศ.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวภายหลังประชุมผู้บริหาร วธ.ว่า จากการที่ สบศ.ได้รับงบประมาณจากโครงการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งของรัฐบาล 35 ล้านบาทเพื่อเผยแพร่การแสดงและถ่ายทอดผลงานด้านศิลปะนาฏศิลป์ไทยนั้น ขณะนี้ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการดำเนินงานแล้ว แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ 1.การแสดงมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่น การแสดงพื้นบ้านแต่ละท้องถิ่น อาทิ ลิเก ลำตัด หมอลำ ฯลฯ โดยจะจัดให้มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมแต่ละภาค ยกตัวอย่าง นำการแสดงลำตัดของแม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ ซึ่งเป็นการแสดงพื้นบ้านของภาคกลาง ไปจัดแสดงในภาคเหนือ ภาคอีสาน หรือ ภาคใต้ ให้เด็กและเยาวชนในท้องถิ่นได้เรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมของคนไทยในภาคอื่นๆ และ 2.การแสดงในราชสำนัก เช่น โขน ละคร ตามมาตรฐานการแสดงที่สืบทอดมาแต่โบราณให้คงอยู่ต่อไป
อธิการบดีสบศ. กล่าวต่อไปว่า สำหรับผู้แสดง สบศ. ได้มอบหมายให้วิทยาลัยนาฏศิลป์ 12 แห่งทั่วประเทศเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษาในสังกัด ร่วมแสดงด้วย มีระยะเวลาดำเนินการ 8-10 เดือน รวมไปถึงจัดหาสถานที่จัดแสดงในแต่ละจังหวัด เช่น ศาลากลาง ศาลาประชาคม หรือลานแสดงวัฒนธรรม เพื่อให้ประชาชนได้รับชมการศิลปนาฎดุริยางค์ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาติ และเป็นการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม สำหรับสถานที่จัดแสดงในส่วนกลาง จัดไว้ 3 แห่ง คือ สวนสันติชัยปราการ โบสถ์ติดกับโรงละครแห่งชาติ และศาลาเฉลิมกรุง รองรับผู้ชมได้ 300-400 คน ทั้งนี้ การแสดงที่ศาลาเฉลิมกรุงจะมีการเก็บค่าเข้าชมในราคาถูกเพื่อนำเงินไปสร้างแหล่งเรียนรู้ทางศิลปะวัฒนธรรมด้วย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำตารางการแสดงของแต่ละภาค คาดว่าจะแล้วเสร็จเร็วๆ นี้ เพื่อเสนอให้ที่ประชุมผู้บริหาร วธ.รับทราบต่อไป
“ที่สำคัญ สบศ.ยังได้รับมอบหมายให้จัดการแสดงเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 82 พรรษา ตั้งแต่วันที่ 3-7 ธันวาคมนี้ที่ลานแสดงกลางแจ้ง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร การแสดงแต่ละภาค ได้แก่ ภาคเหนือ อาทิ การแสดงตีกลองสบัดชัย การฟ้อนรำ ภาคกลาง อาทิ เพลงพื้นบ้าน รำตัด เพลงเรือ เพลงฉ่อย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาทิ โปงลาง รำวง รำแคน ภาคใต้ การแสดงมโนรา หนังตลุง ลิเกฮูลู ส่วนการแสดงโขน ละคร ในราชสำนัก จะมีการแสดงชุดโขน นางลอย ศึกพรหมาสตร์ เป็นต้น” อธิการบดี สบศ.กล่าว