xs
xsm
sm
md
lg

กะเทาะคราบน้ำตา เหยื่อโจรใต้หลังการสูญเสีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เรื่องโดย นพมาศ แวววัชรพันธุ์

“ในวันที่คุณตาเสียชีวิตจากโรงมะเร็ง ศพก็ตั้งไว้ที่วัด ช่วงนั้นคุณพ่อเป็นครูก็ไม่สามารถหยุดสอนได้ พอโรงเรียนเลิก พ่อก็ต้องรีบขี่รถเครื่องไปวัดที่ตั้งศพคุณตาไว้ แต่ปรากฏว่า วันสุดท้ายพ่อไปไม่ได้ค่ะ เพราะระหว่างทางพ่อถูกยิงเสียชีวิตคาที่”

นี่ก็คือคำบอกเล่าที่น่าสลดใจยิ่งนักจากปากของ “พัฒ-สุพัตรา คงเจริญ” นักศึกษาระดับชั้น ปวช.3 สาขาคอมพิวเตอร์ วิทยาลัยอาชีวศึกษายะลา จ.ยะลา ที่สะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงจากปัญหาชายแดนภาคใต้ ที่ตนได้รับผลกระทบสูญเสียเสาหลักของครอบครัวไปอย่างไม่มีวันกลับ
“พัฒ-สุพัตรา คงเจริญ” นักศึกษาระดับชั้น ปวช.3
แม้ว่าเวลาแห่งความโหดร้ายจะผ่านล่วงเลยมาหลายปี แต่ทว่าด้านสภาพแห่งความเป็นจริง ทุกอย่างไม่ได้มีทีท่าที่จะส่อว่าปัญหาจะจบลงง่ายๆ แถมยังมีปัญหาใหม่ที่ตกตามมากับเยาวชน ที่วันนี้ “พัฒ” พร้อมจะถ่ายทอดถึงสภาพชีวิตหลังการสูญเสียพร้อมสภาพสังคมที่เธอสัมผัสให้ฟัง

พ่อของ “พัฒ” เป็นครูอัตราจ้างที่มีฐานะปานกลาง ส่วนแม่ของเธอเป็นช่างเย็บผ้า ทำให้วันที่พ่อของเธอจากไป เธอกับแม่จึงได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก โชคดีที่หลายหน่วยงานยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเรื่องของทุนการศึกษา รวมทั้งได้ไปเข้าค่ายปรับสภาพจิตใจต่างๆ เช่น เข้าค่ายกับเสถียรธรรมสถาน ค่ายแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมเหนือใต้ ค่ายยุวทูตสันติภาพเพื่อเสริมสร้างสันติสุขชายแดนภาคใต้ของกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น

“แม้ความช่วยเหลือจะมากมายอย่างไร แต่ทุกอย่างก็ไม่เหมือนเดิมค่ะ เพราะไม่มีใครแทนพ่อได้ และพ่อกับพัฒเองก็สนิทกันมากความรู้สึกมันก็เลยทดแทนกันยาก แต่ 4 ปีมานี้ ก็ยังทำตัวปกติได้ตั้งใจเรียนได้มากขึ้นกว่าตอนที่เสียพ่อแรกๆ และที่ทุกอย่างมันดีขึ้นมาก็เพราะเราได้คิดว่า เราเองก็ใช่ว่าจะเป็นคนสูญเสียคนเดียว คนอื่นเขาก็สูญเสีย ทั้งพ่อและแม่ก็มี ทุกวันนี้แม้จะทำใจได้แต่ก็กลายเป็นคนกลัวง่าย ผวาง่าย ส่วนปัญหาแม้จะเงียบไปแล้วก็ตาม แต่ก็ยังเกิดขึ้นกับบางจุดอยู่และเราก็รับรู้แม้ ได้รับรู้ทีไรก็จะเสียใจร้องไห้ทุกครั้ง เพราะไม่อยากให้มันเกิด แม้ข่าวจะน้อยลงแล้วแต่เราก็ได้ยินเองกันอยู่บ่อยๆ”

นอกจากการเสียหัวหน้าครอบครัววันนั้น พัฒ ยังเผยอีกว่า ทั้งชุมชนของเธอก็เสียความไว้วางใจให้กันและกันไปด้วย จากที่ผู้นำหมู่บ้านเคยสั่งสอนให้เยาวชนสามัคคีก็ปรับมาเป็นให้ระวังตัวจากทุกคนรอบด้านเพราะไม่รู้ว่าใครเป็นใคร?

“ทุกวันนี้ไปเรียนก็ยังระแวง มองหลังอยู่บ่อยๆ หากมีคนขี่รถตามก็จะเปลี่ยนเส้นทางทันที และไปไหนก็จะไม่ไปคนเดียว ส่วนช่วงเย็นก็ยังคงต้องปิดบ้านเงียบไม่ค่อยออกมาเพ่นพล่านเท่าไร”

พัฒ บอกชาวบ้านยังคงหวาดระแวงกันเอง หวาดกลัวแม้จะมีทหารคอยดูแล เพราะเหตุการณ์มันน่ากลัวจนทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจต่อกันซึ่งเรื่องนี้พัฒบอกนับเป็นปัญหาที่ใหญ่พอๆ กับการมีผู้ก่อการร้าย เพราะมันเป็นสิ่งที่ไม่รู้ และก็สามารถเป็นบ่อนทำลายความสงบตัวฉกาจ

“ผู้ใหญ่ไม่รู้ ผู้ใหญ่ก็เชื่อในสิ่งที่เห็น เห็นสื่อรับสื่อแต่ไม่มีภูมิคุ้มกันสื่อก็จะตกเป็นเหยื่อของสื่อ แล้วก็จะส่งผลกับความสงบในภาคใต้อย่างสื่อมักจะเขียนว่าเป็นเรื่องของศาสนาชาวบ้านก็รับรู้ คนศาสนาเดียวกันก็จะโทษศาสนาอื่นว่าเป็นสาเหตุและก็จะไม่เกิดความสงบสุขกันภายใน หรือบางทีสื่อก็ออกว่าทหารไม่ดี ทั้งๆที่ทหารบางคนก็ดี เราก็รู้สึกสงสารทหารนะที่เขาต้องมาเฝ้า และก็ต้องโดนบางคนมองในแง่ร้าย และก็จะกลายความเครียดที่ไม่มีใครไว้ใจใคร”

ปัญหาดังกล่าว “พัฒ” บอกทุกวันนี้หากไม่รีบเยียวยาช่องว่างของความระแวงกันก็จะยิ่งห่างขึ้น การทำกิจกรรมร่วมกันปัจจุบันเห็นได้น้อยมาก อย่างงาน “ฮารีรายอ” ของมุสลิมที่คนไทยพุทธเคยเข้าร่วม แต่เดี๋ยวนี้คนก็ไม่ค่อยมา ผู้ใหญ่ที่บ้านก็สั่งว่าอย่าไปมันอันตราย มันก็เลยทำให้ไม่มีการกระชับความสัมพันธ์

“ทุกวันนี้สภาพจิตใจดีขึ้นคะ แต่ก็ยังไม่ลืมเรื่องที่เกิด ตอนนี้ก็พยายามตั้งใจเรียนสาขาคอมพิวเตอร์ ทำในสิ่งที่ชอบ อย่างงานเขียนโปรแกรม งานกราฟฟิก เพราะพัฒตั้งเป้าไว้ว่าอยากเอาความรู้ทางเทคโนโลยีมาใช้เผยแพร่จังหวัดยะลา อยากให้คนอื่นได้รับรู้เหมือนเราว่ายะลามีอะไรมากกว่าข่าวที่ออกมาว่ามีแต่ความรุนแรง โดยหากได้เป็นปลัดจริงๆก็อยากที่จะพัฒนาการศึกษาของเด็กใต้ก่อน เพราะปัญหาความรุนแรงมันทำให้การเรียนของพวกเราหยุดชะงัก และยังขาดโอกาสในการเรียนรู้ไปเยอะ”พัฒ ปิดท้าย

กำลังโหลดความคิดเห็น