รายงานพิเศษ :โดย สุกัญญา แสงงาม
“นักเรียนหลายคนมาโรงเรียน 3 วัน หยุดเรียน 2 วัน ผมรู้สึกแปลกใจ จึงซักถามนักเรียนว่า หยุดเรียนไปทำอะไรกัน เด็กให้คำตอบในทิศทางเดียวกันว่า มีพี่น้องหลายคน 6-7 คน มีฐานะยากจนต้องช่วยพ่อแม่ทำงาน ไม่เช่นนั้นเขาอาจไม่ได้มาโรงเรียนเลย”
“ณรงค์ อภัยใจ” ผอ.ร.ร.บ้านเมืองกื๊ด จ.เชียงใหม่ เริ่มต้นบอกเล่าถึงชีวิตความเป็นอยู่ของนักเรียนตัวน้อยๆ ซึ่งแม้ว่าเมื่อได้ฟังคำตอบจากนักเรียนของตนเอง จะไม่เชื่อแต่ ผอ.ณรงค์ก็ขับรถไปดูให้เห็นกับตา บ้านของเด็กๆ อยู่บนเขา ห่างจากโรงเรียนประมาณ 18 กิโลเมตร พบว่าเด็กต้องช่วยพ่อแม่ทำงานจริงๆ บางคนตามพ่อแม่รับจ้างทำนา ทำไร่ และรับจ้างอื่นๆ เท่าที่เด็กจะทำไหว
สิ่งที่ได้เห็นทำให้ ผอ.ณรงค์ กลับมาคิดว่าจะช่วยเด็กเหล่านี้ได้อย่างไร ให้เด็กทำงานมีรายได้โดยไม่เสียการเรียน ซึ่งเห็นว่า ใกล้ๆ โรงเรียนมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทย ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาเยือนไม่ขาดสายตลอดทั้งปี จึงตัดสินใจไปขอความร่วมมือกับบริษัททัวร์ ปางช้าง สถานบริการต่างๆ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กลุ่มแม่บ้าน และอื่นๆ ให้รับเด็กทำงานระหว่างเรียน
ผอ.ณรงค์ กล่าวว่า ก่อนส่งเด็กไปทำงานนั้น ทางโรงเรียนได้เตรียมความพร้อมให้แก่เด็ก โดยจัดตารางเรียนส่วนหนึ่งเรียนวิชาการตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ เรียนผ่านทางไกลผ่านดาวเทียม แต่โรงเรียนจะเสริมหลักสูตรด้านวิชาชีพทุกวันพฤหัสบดี โดยตั้งเป็นชมรม เช่น ชมรมมัคคุเทศก์น้อย ฟ้อนรำ นวดแผนโบราณ ทำอิฐบล็อก จักสาน ตัดผม ซ่อมจักรยานและมอเตอร์ไซค์ เป็นต้น โดยให้เด็กที่เรียนอยู่ชั้น ป.5 ถึง ม.3 เข้าชมรมทุกคน
“จะกำหนดว่าเด็กชั้นไหน เข้าชมรมอะไร โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญ แต่ละด้านมาสอน จนกว่าเด็กมีความสามารถพอและเห็นว่าลงภาคสนามได้แล้ว จึงให้เด็กไปทำงานจริงๆ อย่างไกด์น้อย จะมีไกด์มาสอนตั้งแต่การต้อนรับนักท่องเที่ยว การให้บริการต่างๆ ระหว่างทาง รวมถึงถ่ายทอดประวัติ สิ่งที่น่าสนใจให้แก่นักท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม เวลาลงภาคสนามบริษัททัวร์จะให้เด็กอธิบาย แล้วมีไกด์บริษัทคอยช่วยเสริม เติมส่วนที่ขาด ตรงนี้เด็กจะได้ฝึกภาษาอังกฤษ และกล้าแสดงออก”
ผอ.ณรงค์ บอกต่อว่า จะขอให้บริษัททัวร์พานักท่องเที่ยวมาแวะที่โรงเรียน ซึ่งจะมีเครื่องจักรสานของนักเรียนให้เลือกซื้อ เปิดบริการนวด ซึ่งจะกันรายได้ส่วนหนึ่งให้แก่เด็ก ถ้าหากทัวร์มาลงแล้วเด็กไม่ว่าง หรือมีจำนวนมากกว่าเด็ก จะไปเรียกกลุ่มแม่บ้านมานวดแล้วหักรายได้ส่วนหนึ่งเข้ากองทุนของโรงเรียน ซึ่งเงินที่เข้ากองทุนทุกบาททุกสตางค์จะกลับไปสู่นักเรียนซึ่งเป็นลูกหลานของพวกเขา
ผอ.ณรงค์ กล่าวว่า การฝึกอาชีพต่างๆ ให้แก่เด็กนั้น นอกจากสร้างรายได้ระหว่างเรียนแล้วเด็กไม่ต้องหยุดเรียน ขณะเดียวกัน เด็กยังสามารถค้นหาตัวเองได้ด้วยว่าถนัดด้านไหน เขาจะได้นำความรู้ไปประกอบอาชีพภายหลังเรียนจบ และโรงเรียนได้ทำเว็บไซต์เพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องจักรสานของนักเรียนและชุมชนด้วย
ด.ญ.รจเรจ กอบแก้ว หรือน้องฝ้าย นักเรียนชั้น ม. 1 เล่าว่า ฝ้ายเลือกเข้าชมรมภาษาอังกฤษ เพื่อฝึกเป็นไกด์น้อย คอยอธิบายสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ โดยโรงเรียนร่วมกับบริษัททัวร์ มาเทรนเนื้อหาว่าจะต้องพูดอะไรบ้าง เริ่มจากแนะนำตัวเอง ไกด์ คนขับรถ และสถานที่สำคัญ ประเพณีวัฒนธรรมไทย จนมั่นใจว่าสามารถนำเที่ยวได้ จึงให้ลงภาคสนาม พานักท่องเที่ยว
“วันแรกรู้สึกเหงื่อออกมือทีเดียว เพราะตื่นเต้น กลัวจะพูดผิด ซึ่งนักท่องเที่ยวเขารู้แล้วว่าฝ้ายเป็นนักเรียน ลูกทัวร์ก็ไม่ว่า แถมสอนภาษา ช่วยฝึกสำเนียงที่เราพูดเพี้ยนให้ออกเสียงถูกต้อง อย่างไรก็ตาม พี่ไกด์เขาจะหากิจกรรมให้ลูกทัวร์อย่างต่อเนื่อง สร้างรอยยิ้มให้แก่นักท่องเที่ยว” ฝ้าย จะจดจำไว้ และปีนี้ฝ้ายเข้าชมรมนวดแผนไทย ได้เรียนรู้ศาสตร์การนวด และจากการพูดคุยกับนักท่องเที่ยวเขาชอบนวด อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะนวดแผนไทย หรือไกด์น้อย ช่วยให้ฝ้ายมีรายได้สามารถแบ่งเบาภาระของครอบครัว ตั้งใจว่า จบ ม.3 จะยึดอาชีพนวดแผนไทยพร้อมกับเรียนเพิ่มเติมให้เชี่ยวชาญ