“กระทรวงหมอ” เชิญชวน ประชาชนทั่วไป และผู้สูงอายุที่ใส่ฟันเทียมทั้งปากแล้วมีปัญหา เช่นหลวมหลุดง่าย เข้ารับบริการตรวจสุขภาพช่องปากและทำรากฟันเทียมฟรี เนื่องในวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ วันที่ 21 ตุลาคม ทุกปี แจ้งลงทะเบียนได้ที่โรงพยาบาล 85 แห่งที่ร่วมโครงการหรือที่สถาบันทันตกรรม จ.นนทบุรี ชี้ผลสำรวจล่าสุดในปี 2550 พบผู้สูงอายุเหลือฟันเคี้ยวอาหารได้เพียงคนละ 3 คู่ มีประมาณ 6 แสนคนที่เหลือแต่เหงือกล้วน
วันนี้ (12 ต.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ และทันตแพทย์สมชัย ชัยศุภมงคลลาภ ผู้อำนวยการสถาบันทันตกรรม ร่วมกันแถลงข่าว “การจัดบริการทันตกรรม เนื่องในวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ”
นายวิทยา กล่าวว่า เนื่องในวันที่ 21 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และเป็นวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จย่า พระมารดาแห่งการทันตสาธารณสุขไทย ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และคณทันตแพทยศาสตร์ 6 มหาวิทยาลัย จัดโครงการตรวจสุขภาพช่องปากแก่ประชาชนทั่วไป และบริการฝังรากฟันเทียมฟรี แก่ผู้สูงอายุที่ใส่ฟันเทียมทั้งปาก ในโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ซึ่งดำเนินการระหว่าง พ.ศ.2551-2554 เป้าหมาย 10,000 ราย ซึ่งหลังใส่แล้วมีปัญหาเช่นฟันหลวม หลุดง่าย ใช้เคี้ยวอาหารไม่ได้ การฝังรากฟันเทียมนี้ จะช่วยยึดฟันเทียมให้แน่นช่วยในการเคี้ยวบดอาหารได้ดีขึ้น
ด้าน นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า บริการฝังรากฟันเทียมฟรีจะเปิดให้ลงทะเบียนในวันที่ 21 ตุลาคม 2552 ประชาชนและผู้สูงอายุสามารถแจ้งลงทะเบียนได้ที่โรงพยาบาลทั้งหมด 85 แห่ง ประกอบด้วย โรงพยาบาลประจำจังหวัดสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 76 แห่งทั่วประเทศ รพ.ศิริราช รพ.ตำรวจ รพ.จุฬาลงกรณ์ คณะทันตแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์หาดใหญ่ หรือสมัครที่สถาบันทันตกรรม ใกล้ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ ถ.ติวานนท์ อ.เมือง จ.นนทบุรี โทร.02-5884005-8 ต่อ 103 รับไม่จำกัดจำนวน
ด้านนพ.เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ผลการสำรวจสุขภาพช่องปากระดับประเทศครั้งล่าสุดในปี 2550 พบคนไทยกว่าร้อยละ 50 มีปัญหาฟันผุ โดยในกลุ่มของคนวัยทำงานคืออายุ 35-44 ปี และผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เหลือฟันไม่ครบปาก คือ ครบ 32 ซี่ โดยวัยทำงานร้อยละ 83 มีฟันเฉลี่ย 28 ซี่ ส่วนผู้สูงอายุโดยเฉลี่ยสูญเสียฟันมากกว่าคนละ 10 ซี่ และมีผู้สูงอายุร้อยละ 10 หรือประมาณ 6 แสนคน ไม่มีฟันเหลืออยู่เลย พบในภาคกลางมากที่สุด ส่วนในด้านการเคี้ยวอาหาร พบผู้สูงอายุมีฟันที่เคี้ยวอาหารได้เพียงคนละ 3 คู่ และหากอายุ 80 ปีขึ้นไป จะลดลงเหลือคนละ 1 คู่เท่านั้น
การฝังรากฟันเทียม เป็นเทคโนโลยีขั้นสูง ต้องทำโดยทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ที่ผ่านมาประชาชนเข้าถึงบริการนี้น้อย เนื่องจากค่าใช้จ่ายสูงถึงรากละ 50,000-120,000 บาท เพราะต้องนำเข้ารากฟันเทียมจากต่างประเทศ มูลค่าการนำเข้า ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทต่อปี สำหรับโครงการรากฟันเทียมที่ใช้ในโครงการนี้ ผลิตโดยศูนย์เทคโนโลยีทางทันตกรรมขั้นสูง (ADTEC) และศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ คุณภาพดีเทียบเท่ามาตรฐานยุโรป โดยจะใส่ให้คนละ 2 ราก
ทั้งนี้ ผู้ที่จะเข้ารับการฝังรากฟันเทียม จะต้องไม่มีโรคประจำตัวที่สำคัญคือ โรคหัวใจ เบาหวานที่ควบคุมน้ำตาลไม่ได้ ความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้ควบคุม โดยการผ่าตัดฝังรากฟันเทียม ใช้เวลาผ่าตัดนาน 1 ชั่วโมง หลังจากนั้น จะทิ้งเวลาเพื่อให้กระดูกยึดเกาะที่รากฟันเทียม ใช้เวลา 4 เดือน จากนั้นจึงจะทำการยึดฟันปลอมลงบนรากฟันเทียมอีกชั้นหนึ่ง