xs
xsm
sm
md
lg

“คุณชาย” สั่ง สนน.-เทศกิจ-หน่วยเบสท์ประจำจุดน้ำท่วมซ้ำซากเตรียมรับมือ "ป้าหม่า"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



“คุณชายสุขุมพันธุ์” ลงพื้นที่บางซื่อ ที่ถูกน้ำท่วมบางส่วน เพราะเขื่อนกั้นน้ำของกทม.ชำรุด เร่งใช้กระสอบทราบกั้นพร้อมทำสะพาน เผยสั่งการเจ้าหน้าที่สนน.-เทศกิจ-หน่วยเบสท์ประจำจุดน้ำท่วมซ้ำซากเพื่อรับมือพายุ “ป้าหม่า” และอีก 2 ลูกที่กำลังจะตามมา พร้อมแจกถุงยังชีพและคู่มือป้องกันโรคระบาดที่อาจมากับน้ำท่วม

วันนี้ (10 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการลงพื้นที่ตรวจบริเวณวัดสร้อยทอง พร้อมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครว่า จากที่ชุมชนวัดสร้อยทอง เขตบางซื่อ ถูกน้ำท่วมบางส่วน เพราะเขื่อนกั้นน้ำของกทม.ชำรุดนั้น ขณะนี้ได้มีการนำกระสอบทรายกั้นน้ำ พร้อมทำสะพานทางเข้าออกให้กับประชาชนเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งทางสำนักการระบายน้ำได้เข้าซ่อมแซมอย่างเร่งด่วนแล้ว

ทั้งนี้ ปริมาณน้ำท้ายเขื่อนในวันนี้ ยังทรงตัวอยู่ที่ 2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และระดับน้ำขึ้นสูงสุด อยู่ที่เวลา 11.58 น. และเวลา 20.12 น. คาดว่าระดับน้ำขึ้นสูงไม่เกิน 1.80 เมตร ส่วนวันที่ 18-20 ตุลาคมนี้ คาดการณ์ว่าน้ำจะหนุนสูงสุด ประกอบกับอาจมีพายุป้าหม่า และพายุอีก 2 ลูกที่จะพัดเข้ามา ซึ่งกรุงเทพมหานครได้มีการประสานงานกับกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด และมีการเตรียมพร้อม โดยสั่งการให้เจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำ เจ้าหน้าที่เทศกิจ และเจ้าหน้าที่จากหน่วยเบสท์ (BEST) เข้าประจำจุดล่วงหน้าบริเวณน้ำท่วมซ้ำซาก เพื่อรับมือได้อย่างทันท่วงที ซึ่งถุงยังชีพที่แจกให้กับชุมชนใต้สะพานพระราม 6 จำนวน 18 หลังคาเรือน และชุมชนข้างธนาคารอาคารสงเคราะห์ อีก 38 หลังคาเรือน

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เปิดเผยด้วยว่า ขณะนี้ กทม.ยังคงมีพื้นที่ที่ประสบความเดือดร้อนจากภาวะน้ำเหนือและน้ำทะเลหนุน เป็นชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาจำนวน 1,353 ชุมชน ใน 13 เขต ที่ยังไม่มีเขื่อนกั้นน้ำ รวมความยาว 7 กิโลเมตรโดยได้เตรียมกระสอบทรายกว่า 4 ล้านลูก ให้ประชาชนใช้บรรเทาความเดือดร้อน พร้อมแจกจ่ายถุงยังชีพ และคู่มือป้องกันโรคที่มาจากน้ำท่วม โดยเฉพาะโรคท้องร่วง โรคตาแดง หรือน้ำกัดเท้า

ซึ่งสถานการณ์ล่าสุด แม้จะเริ่มมีภาวะน้ำทะเลหนุน ประกอบกับมีฝนตกหนักบางแห่งใน กทม. แต่ก็ยังถือว่าไม่น่าเป็นห่วง ยกเว้นในวันที่ 18-20 ตุลาคมนี้ ที่คาดว่าน้ำทะเลจะหนุนสูงสุดในระดับ 2 เมตร และอาจสร้างความเดือดร้อนกับประชาชนอีกครั้ง สำหรับการแก้ปัญหาในระยะยาว กทม.จะเร่งรัดการก่อสร้างแนวเขื่อนกั้นน้ำที่เหลืออีก 7 กิโลเมตรให้แล้วเสร็จภายในปี 2553 จากเดิมที่กำหนดจะแล้วเสร็จในปี 2554












กำลังโหลดความคิดเห็น