xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อ “โขน” ถึงยุคดิจิตอล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ส่วนของการออกแบบชุด คือจะเอาลายที่ออกแบบไว้มาใส่ตามส่วนต่างๆ  ด้านซ้ายเป็นตัวหุ่น ส่วนด้านขวาจะเป็นลายที่สร้างขึ้นจากโปรแกรมออกแบบลาย
รายงานโดย กองทรัพย์ ชาตินาเสียว

ปลายปี 2550...
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใช้วิทยาการทางวิศวกรรมศาสตร์แก้ไขปัญหาการสร้างชุดโขนของทางกรมศิลปากร ซึ่งทางภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ได้จัดทำโครงการวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ขึ้น โดยใช้ชื่อว่า “โครงการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ช่วยออกแบบเครื่องแต่งกายยืนเครื่องโขน”


จากวันนั้นจนถึงวันนี้ในปี 2552.... ความคืบหน้าของโครงการดังกล่าวดำเนินไปจนใกล้บรรลุวัตถุประสงค์แล้ว
โปรแกรมออกแบบลาย ส่วนนี้จะเอาภาพลายเส้นมาเขียนลายด้วยเครื่องมือในโปรแกรม เพื่อใช้ทำภาพ Texture รวมถึงกำหนดค่าเช่น สีของด้าน สีของเนื้อผ้า ทิศทางของลายปัก
**ดิจิตอลตัวช่วยจัดระเบียบโขน

ดร.พิษณุ คนองชัยยศ หัวหน้า “โครงการระบบจัดเก็บองค์ความรู้ถาวรแบบดิจิตอลสำหรับโขน” ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า วัตถุประสงค์ของการนำดิจิตอลมาเป็นเครื่องมือสำหรับช่วยงานในขั้นตอนสร้างชุดโขนนั้นก็เพื่อช่วยให้ศิลปินผู้ออกแบบ และช่างปักสามารถเห็นผลงานล่วงหน้าก่อนลงมือปักจริงได้ ทั้งนี้ เพื่อลดความผิดพลาดของงานและร่นระยะเวลาให้งานเสร็จเร็วขึ้น

“กระบวนการในการออกแบบและตัดเย็บเครื่องแต่งกายโขน หนึ่งชุดอาจจะใช้เวลานานถึง 3 ปีครึ่ง เนื่องจากต้องมีปรับแก้หลายครั้งจนกว่าจะเป็นไปตามที่ผู้ออกแบบต้องการ ซึ่งถ้ามีการใช้ซอฟต์แวร์ที่ผลิตขึ้นจะช่วยลดเวลาลง 50% และลดงบประมาณได้ 30% แต่ขณะนี้ยังขาดเครื่องมือใหญ่ โดยเฉพาะเครื่องโมชั่น แคปเจอร์ (motion capture) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการนำมาใช้ในการตรวจจับการเคลื่อนไหวของท่ารำโขนเพื่อป้องกันท่ารำผิดเพี้ยน” ดร.วิษณุ อธิบาย

จักรพงศ์ นาคเดช หรือ ชาย นิสิตปริญญาเอก ชั้นปีที่ 1 ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ยังมีชุดโปรแกรมเก็บข้อมูลรายละเอียดของชุดเครื่องแต่งกายโขนด้วยโดยจะนำส่วนคล้ายบาร์โค้ดที่เรียกว่า “แท็ค” ติดบนเครื่องแต่งกาย อาทิ เสื้อ สนับเพลา ตัวคล้องคอเพื่อจัดให้เป็นหมวดหมู่ จะมีการเก็บข้อมูลได้ในคอมพิวเตอร์ มีระบบการยืมคล้ายหนังสือ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการสูญหาย และติดตามจากเจ้าหน้าที่ได้ง่าย อีกทั้งยังเข้ากับระบบห้องจัดเก็บชุดใหม่ของสำนักการสังคีตอีกด้วย
จักรพงศ์ นาคเดช
** “เก่า-ใหม่” เราพบกันครึ่งทาง

จักรพงศ์ เริ่มศึกษาเรื่องราวของโขนตั้งแต่เป็นนิสิตชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จนวันนี้เป็นนิสิตชั้นปีที่ 1 ระดับปริญญาเอก เขาเข้าออกกรมศิลปากร ร่วมพูดคุยกับศิลปินและช่างอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งกว่า 2 ปีที่ผ่านมาพบว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ชุดออกแบบโปรแกรมแต่กลับอยู่ที่การทำความเข้าใจและศึกษาสีจากกรมศิลปากร เนื่องจากสีที่ศิลปินเรียกขานจะไม่ตรงตามสีที่คุ้นเคย เช่น สีฟ้าน้ำทะเล สีเขียวองคต เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าช่างแต่ละสกุลมีครูต่างออกไป และโดยส่วนใหญ่จะใช้ความรู้สึกกำหนดสี ซึ่งแก้ปัญหาโดยการเข้าไปเทียบสี ใช้วัสดุตัวอย่างเปรียบเทียบ เมื่อได้ข้อมูลตรงกันแล้วก็เก็บไว้ในคอมพิวเตอร์

การทำให้ศิลปินเข้ามาสนใจเราก็ต้องเข้าไปใกล้ชิด เข้าไปเสนอให้ดู แต่ยังไม่ถึงว่าศิลปินจะมาเรียนรู้จากเรา มันก็ต้องค่อยๆ ไป เพราะกรมศิลปากรมีบุคลากรน้อย ยิ่งศิลปินที่ทำงานจริงๆ แทบจะไม่ใช้คอมพิวเตอร์เลย เราก็ต้องค่อยๆ เข้าไป ใช้เวลากว่าเขาจะยอมรับเทคโนโลยีเข้าไปใช้ ต้องเป็นลักษณะที่เราทำให้เขาเข้าใจว่าสิ่งใหม่จะไม่ไปทดแทนของเดิม แต่ช่วยให้ของเดิมดีขึ้น หน้าที่วิศวะคือให้ศิลปินเขาทำหน้าที่ได้ง่ายมากขึ้น” นิสิตปริญญาเอก บอก
แยกชิ้นเพื่อให้เห็นลายได้ชัดเจน
ในการทำงานออกแบบชุดเครื่องแต่งกายโขนดั้งเดิมนั้นจะวาดลายบนกระดาษ และลอกลายบนผ้า แล้วทำการปักตามลาย แต่โปรแกรมคอมพิวเตอร์จะทำให้เห็นภาพในสามมิติก่อน โดยนำลายที่ช่างวาดเขียนส่งมาสแกนเข้าคอมพิวเตอร์ จากนั้นโปรแกรมจะทำการลอกลายแปลงข้อมูลเป็นแบบดิจิตอล โดยลำดับต่อไปต้องใส่ค่าสีผ้า วัสดุที่ใช้ปัก ซึ่งทั้งหมดศิลปินจะต้องเป็นผู้กำหนด โดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์จะนำข้อมูลทั้งหมด ประมวลผลออกมาเป็นลายผิว ตลอดจนคำนวณค่าการสะท้อนแสง ก่อนจะนำไปแปะบนโมเดล 3 มิติ ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 4 ประเภทตามตัวละครโขน คือ ตัวพระ ตัวนาง ยักษ์ และลิง เพื่อความชัดเจนและมองเห็นภาพของตัวละครได้ก่อนทำการปักลายลงไปบนเนื้อผ้าจริง

“พิชยุตม์ พีระเสถียร”
**หาจุดร่วมในความต่าง

“พิชยุตม์ พีระเสถียร” หรือ แฮม นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ หนึ่งในทีมงานผู้ออกแบบชุดโปรแกรม ให้ทัศนะว่า จริงๆ แล้วการใช้คอมพิวเตอร์ออกแบบยังไม่สามารถทำได้เทียบเท่าฝีมืออันอ่อนช้อยของศิลปินได้ อาจจะสามารถช่วยงานคนได้เพียง 10-20% เท่านั้น อย่างไรก็ตามการหาจุดลงตัวมีแนวโน้มความเป็นไปได้ว่าจะพัฒนาศักยภาพให้ใช้ได้มากที่สุด แต่คงไม่ใช้แทนแบบดั้งเดิม 100%

ทั้งนี้ การศึกษาโขนไทยในยุคดิจิตอลนั้นต้องทำให้เยาวชนเข้าถึงได้ง่ายๆ ก่อน เพราะเชื่อว่าส่วนใหญ่ยังคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว ดังนั้น การศึกษาและพัฒนาโปรแกรมอื่นๆ เพื่อนำไปต่อยอด ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบเครื่องแต่งกายที่ต้องศึกษาอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังสามารถศึกษาเรื่องแสง ค่าสี และการออกแบบเวทีก่อนการแสดงจริงด้วย

“เห็นความเปลี่ยนแปลงของโขนทั้งการจัดแสง เสื้อผ้า และเวทีมากๆ ในโขนชุดพรหมาศที่ศูนย์วัฒนธรรม มีการพัฒนาไปเยอะมาก แสงที่เพิ่มจากแสงขาวเพิ่มแสงให้มีอารมณ์ในการแสดงมากขึ้น กระบวนการออกแบบการจัดฉากมากขึ้น โดยวิศวกรเองก็ต้องเรียนรู้ข้อจำกัดของเทคโนโลยี และของดั้งเดิมด้วยเพื่อประยุกต์ให้ใช้ร่วมกันให้ได้มากที่สุด”

พิชยุตม์ ในฐานะที่เรียนวิศวกรรมศาสตร์ และต้องคลุกคลีกับศิลปวัฒนธรรม แสดงความเห็นด้วยว่า ที่สุดแล้ววัฒนธรรมและเทคโนโลยีสามารถก้าวไปด้วยกันได้ เนื่องจากเทคโนโลยีจะไปช่วยสนับสนุนทางด้านวัฒนธรรม ทั้งด้านเก็บข้อมูล ช่วยด้านการออกแบบ จะดีมากถ้าใช้เทคโนโลยีเข้าไปช่วยผลักดันศิลปวัฒนธรรมให้ดีกว่าที่เป็นอยู่และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะยังคงส่งไม้ต่อเรื่องโขนต่อไป หากมีการต่อยอดเรื่อยไป ใช้ความรู้หลายจุดมาผสมกัน ไม่แน่ว่าอาจจะมี เกม หรือการ์ตูนแอนิเมชันโขน หรือตัวละครเด่นในโขนเป็นตัวเอกออกมาก็เป็นได้


กำลังโหลดความคิดเห็น