มหาดไทยส่งเรื่องให้ กทม.เพิกถอนสภาพที่ดินใต้คลองโอ่งอ่าง เปิดทางทำตลาดใต้ดิน “ธีระชน” เผย มีนักลงทุนทั้งไทย-เทศ สนใจ เล็งพลิกโฉมคลองหลอดเป็นชองเกชอนแบบเกาหลีใต้ ขณะที่โครงการทิ้ง จับ ปรับ จับไปแล้ว 146 ราย ได้เงิน 14,600 บาท
นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการทำความสะอาดบริเวณคลองหลอด ตามโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ และจัดระเบียบคนเร่ร่อนท้องสนามหลวง และบริเวณโดยรอบ พร้อมให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ได้มีหน่วยงานราชการ องค์กรเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 50 หน่วยงาน ร่วมเป็นคณะกรรมการ เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข ฯลฯ สำหรับการดำเนินการลงทะเบียนคนเร่ร่อนที่ผ่านมามีจำนวน 400 กว่าคน ในจำนวนนี้สามารถจัดหางานให้ทำได้แล้ว 20 คน ส่วนที่เหลือยังมีปัญหาไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งทาง กทม.ได้ประสานความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย ค้นประวัติจากผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่อำเภอ เพื่อทำประชาชนซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ ส่วนการจัดหาที่พักให้กับคนเร่ร่อนนั้นจะประสานหาสถานที่ที่ไม่ต้องเคร่งต่อกฎเกณฑ์มากหนักเพื่อให้พวกเขาสามารถเข้าไปพักได้ซึ่งนโยบายนี้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.เห็นว่า น่าจะยกเป็นวาระแห่งชาติเพื่อให้มุกฝ่ายร่วมแก้ไขเหมือนการแก้ไขปัญหาช้างยิ้มของ กทม. อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 16 ต.ค.จะมีการประชุมคณะกรรมการเพื่อวางแผนปฏิบัติการให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นหลังจากมีหลายหน่วยงานเข้าร่วม
ส่วนปัญหาหาบเร่ แผงลอยบริเวณคลองหลอดนั้น นายธีระชน กล่าวว่า เบื้องต้นยังประนีประนอมให้ผู้ค้าสามารถค้าขายแต่ขอความร่วมมือให้ช่วยกันดูแลความสะอาด จัดเก็บขยะ และไม่วางสิ่งของกีดขวางทางเดินเท้า ส่วนระยะยาวจะนำเรื่องเข้าหารือกับคณะกรรมการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย ซึ่งจะพิจารณาร่วมกับพื้นที่อื่นทั้งตลาดโบ๊เบ๊ และคลองโอ่งอ่าง โดยในวันพรุ่งนี้ (6 ต.ค.) จะนำเข้าที่ประชุมคณะผู้บริหาร กทม.เนื่องจากทางกระทรวงมหาดไทยได้ส่งหนังสือมายัง กทม.โดยขอให้กทม.ถอนสภาพที่ดินบริเวณใต้คลองโอ่งโอ่งให้กับ กทม. โดยให้เป็นพื้นที่ที่สามารถทำการค้าเชิงพาณิชย์ได้ และขอให้ผู้ที่สนใจสามารถขอสัมปทานพื้นที่ใต้คลองโอ่งอ่างทำตลาดได้โดยให้นำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป ซึ่งขณะนี้มีภาคเอกชนสนใจ 2-3 รายโดยเป็นนักลงทุนจากต่างประเทศ และชาวไทย ซึ่งในเรื่องนี้ นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ รองผู้ว่าฯ กทม.จะเป็นผู้เข้ามารับผิดชอบ
นายธีระชน กล่าวต่อว่า ส่วนโครงการทิ้ง จับ ปรับ ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา ปรากฏว่า ปริมาณขยะลดลง และมีการจับปรับไปจำนวน 146 ราย เป็นเงิน 14,600 บาท และทำการเตือนจำนวน 200 กว่าราย ทั้งนี้ โครงการทิ้ง จับ ปรับ กทม.ยืนยันไม่ต้องการรายได้จากการปรับ แต่ต้องการให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทาง
ต่อข้อถามที่ว่า สามารถที่จะทำพื้นที่บริเวณใต้คลอดทำเป็นตลาดใต้ดินได้หรือไม่ นายธีระชน กล่าวว่า เป็นแนวความคิดที่ดีเป็นโครงการที่น่าสนใจโดยสามารถทำพื้นดินใต้คลองข้างล่างเป็นพื้นคอนกรีตแทนเหมือนประเทศเกาหลีใต้ที่มีชองเกชอน