สธ.เผยสถานการณ์หวัดใหญ่ 2009 รอบสัปดาห์ ตายเพิ่มอีก 11 ราย ห่วงอีสานตอนล่างยังแย่ ชี้ต.ค.- พ.ย.ปิดเทอมสุดเสี่ยง เด็กเล่นเกม เรียนกวดวิชา ร่วมเทศกาลลอยกระทง ทอดกฐินหวัดกลับมาระบาดหนักได้ ประสานสสจ.อปทงลงพื้นที่ให้ความรู้ พร้อมเตรียมระดมผู้เชี่ยวชาญเดินสายให้คำปรึกษา ประกาศต้น ต.ค. ยอดตายต้องลด ยันยังไม่เปลี่ยนคำแนะนำดูแลสุขภาพ ใช้หน้ากากอนามัยปกติร่วมล้างมือ หลังต่างประเทศเผยผลวิจัยต้องใช้หน้ากาก เอ็น 95 เท่านั้นจึงจะป้องกันได้ผลดี ขณะที่วัคซีน2009 อาจต้องเลื่อนการทดลองในคนอีก
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 16 ก.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย รศ.นพ.ทวี โชติพิทยสุนันท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ภก.สมชาย ศรีชัยนาค รองผอ.องค์การเภสัชกรรม นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค และพญ.มัวรีน เบอร์มิงแฮม (Dr. Maureen Birmingham)ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ร่วมกันแถลงข่าว ความคืบหน้าสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009
ตายเพิ่ม 11 ราย รวมยอดตาย 153 ราย
นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า สถานการณ์ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ รอบวันที่ 6-12 ก.ย. มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จำนวน 11 ราย เป็นชาย 6 คน หญิง 5 ราย โดย 2 ใน 3 มีโรคประจำตัว อยู่ในจังหวัดขอนแก่น ชุมพร เชียงใหม่ นครสวรรค์ แพร่ สงขลา สมุทรปราการ อุทัยธานี โดยไม่มีผู้เสียชีวิตในเขตกทม. รวมยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่วันที่ 28 เม.ย.เป็นต้นมามีผู้เสียชีวิตแล้วทั้งสิ้น 153 ราย ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องดำเนินการแก้ปัญหาให้เข้มข้นขึ้น โดยสถานการณ์ในช่วงต่อจากนี้ จำเป็นต้องให้ความระมัดระวังในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย.นี้ เพราะเป็นช่วงการปิดเทอมและจะมีเทศกาลต่างๆ ซึ่งจะมีการรวมตัวทำกิจกรรมที่มีคนจำนวนมาก โดยเน้นให้สาธารณสุขจังหวัดในการจัดทีมให้ความรู้ประชาชน
“เพื่อมาตรการที่เข้มข้นขึ้น ผอ.รพ. สสจ. จะดำเนินการเบ็ดเสร็จ มีผู้ตรวจราชการกำกับ จะเปลี่ยนโดยมีทีมจากส่วนกลาง โดยมีผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมกันระหว่างกรมต่างๆ จะเยี่ยมพื้นที่ สนับสนุน โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีปัญหา เช่นในวันศุกร์ที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา มีการหารือกับภาคอีสานตอนล่าง ซึ่งกำลังมีปัญหาจากมีการระบาดเพิ่มขึ้นอย่างมาก เป็นการเพิ่มความร่วมมือในการแก้ปัญหาร่วมกัน คาดว่าภายในต้นเดือน ต.ค. จะได้เห็นจำนวนผู้เสียชีวิตลดลงเป็นลำดับ ”นพ.ไพจิตร์ กล่าว
นพ.ไพจิตร์ กล่าว่า ได้มอบหมายให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เพิ่มความรู้ให้อสม.และเร่งให้อสม.ประสานงานและทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการซ้อมแผนปฏิบัติงานป้องกันควบคุมโรคในระดับชุมชนให้ครบ หากมีการระบาดจริงในชุมชนก็จะสามารถจำกัดวงระบาดและลดการสูญเสียที่จะเกิดขึ้นได้ ขณะนี้ได้กระจายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ ให้โรงพยาบาลทุกจังหวัดและคลินิกที่ร่วมโครงการเพียงพอแล้ว และให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ กำกับการทำงานในพื้นที่ด้วย นอกจากนี้ขอความร่วมมือร้านขายยา หากพบผู้ป่วยเข้าข่ายให้แนะนำไปรักษาตัวในโรงพยาบาลทันที เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยาที่รวดเร็ว
วัคซีนเชื้อตายใกล้เสร็จตะวันตก-จีนฉีดก่อน
พญ.มัวรีน กล่าวว่า มีข่าวดีเรื่องความคืบหน้าการผลิตวัคซีนจากเชื้อตายเป็นชนิดฉีด โดยผลการทดลองในจีน และประเทศตะวันตก ให้ข้อมูลว่าสามารถฉีดวัคซีนเพียง 1 ครั้งต่อปี น่าจะเพียงพอสามารถป้องกันโรคได้จากเดิมที่มีข้อมูลว่าโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เป็นโรคใหม่อาจต้องฉีดวัคซีนคนละ 2 ครั้งต่อปี จึงจะสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันป้องกันโรคได้ และคาดว่าในต้นเดือนตุลาคมกระบวนการผลิตวัคซีนจะแล้วเสร็จสามารถฉีดให้ประชาชนในกลุ่มประเทศตะวันตก และประเทศจีน ซึ่งนอกจากนี้ องค์การอนามัยโลกได้เริ่มเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่เช่น บริษัท จีเอสเค บริษัทซาโนฟี่ เป็นต้น เพื่อขอรับบริจาควัคซีนให้กับประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศยาจนที่ไม่มีกำลังซื้อวัคซีนเอง เพื่อช่วยป้องกันการระบาดของโรคนี้ในภูมิภาคต่างๆ โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปใน 1-2 สัปดาห์นี้
สธ.ชี้ยังไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนไปใช้หน้ากากอนามัย เอ็น 95
รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวว่า ขณะนี้มีงานวิจัยของมหาวิทยาลัย นิวเซาท์เวล์ ประเทศออสเตรเลีย นำเสนอว่า การใส่หน้ากากอนามัยแบบธรรมดา หรือ 3 เอ็ม ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ได้ โดยให้เปลี่ยนมาใช้หน้ากากอนามัยชนิด เอ็น 95 แทนนั้น ถือว่ายังเป็นเพียงงานวิจัยเพียงชิ้นเดียว ยังมีข้อบ่งชี้ไม่เพียงพอที่จะปรับเปลี่ยนคำแนะนำแก่ประชาชน ซึ่งองค์การอนามัยโลก ได้ชี้แจงว่า ในสหรัฐอเมริกายังไม่มีการเปลี่ยนคำแนะนำเช่นเดียวกัน ในทางปฏิบัติ
“การใช้หน้ากากอนามัยชนิด เอ็น 95 มีข้อบ่งชี้ในการใช้มากกว่าหน้ากากแบบธรรมดา เช่น สตรีตั้งครรภ์และผู้ป่วยโรคหัวใจห้ามใช้ เนื่องจากเมื่อใส่หน้ากากชนิดนี้แล้วจะได้รับออกซิเจนน้อยกว่าปกติ และสามารถใส่ติดต่อกันได้นาน 30-45 นาทีเท่านั้น และยังมีราคาแพงด้วย แต่สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องดูแลผู้ป่วยหนัก ยังแนะนำให้ใช้หน้ากากอนามัยชนิด เอ็น 95 อยู่ แต่ประชาชนทั่วไป การป้องกันโรคที่ดีที่สุดคือ จำเป็นต้องทำรวมกันหลายวิธีทั้งใส่หน้ากากแบบธรรมดา การล้างมือ เป็นต้น แต่หากมีข้อมูลเปลี่ยนแปลง สธ. จะนำมาพิจารณาและปรับเปลี่ยนคำแนะนำกับประชาชนต่อไป” รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าว
เจรจาปศุสัตว์ผลิตไข่ไก่ปลอดเชื้อใช้ทำวัคซีน
ภก.สมชาย กล่าวถึงความคืบหน้าการผลิตวัคซีนจากเชื้อเป็น ชนิดพ่น ว่า ขณะนี้คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สามารถตรวจสอบสาเหตุการเกิดฝีในปอดของหนูทดลอง 1 ตัว สรุปว่า เป็นการเกิดฝีจากเชื้อไมโครพลาสมาที่ไม่ได้อยู่ในวัคซีน และเป็นเชื้อที่ไม่พบในไข่ไก่ด้วย จึงถือว่าเป็นการเกิดฝีขึ้นเองตามธรรมชาติของหนูทดลอง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจซ้ำอีกครั้งเพื่อความปลอดภัย จะทราบผลความแปรปรวนดังกล่าวในช่วงต้นเดือนตุลาคมนี้ ส่วนจะมีผลทำให้ต้องเลื่อนการทดลองวัคซีนในอาสาสมัคร 24 คนที่เดิมกำหนดเริ่มทดลองในวันที่ 24 กันยายนนี้หรือไม่นั้น ต้องให้คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องพิจารณาอีกครั้ง
“ขณะนี้ไข่ไก่นำเข้าจากเยอรมนีและอเมริกามีปัญหาในเรื่องการเจริญเติบโตของเชื้อที่ช้ากว่าปกติ เพราะต้องผ่านการขนส่ง ซึ่งการเดินทางไกลส่งผลกระทบต่อการทดลอง ดังนั้น อภ.ได้เจรจากับกรมปศุสัตว์ ในการใช้ไข่ไก่ปลอดเชื้อที่ปศุสัตว์ผลิตได้ ซึ่งได้มาตรฐานสากลอยู่แล้ว อีกทั้งไม่ต้องผ่านการขนส่งทำให้ไข่ปรับตัวเองได้ดี มีราคาเหมาะสม ซึ่งน่าจะถูกกว่านำเข้าจากต่างประเทศ โดยมีกำลังการผลิตได้วันละ 1,000 ฟอง แต่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะติดขัดระเบียบที่กำหนดให้ผลิตไข่ไก่เฉพาะใช้สำหรับวัคซีนในสัตว์เท่านั้น คาดว่าใน 1-2 สัปดาห์จะได้ข้อสรุป”ภก.สมชาย กล่าว
"หมอวิชัย" ชี้รอผลประชุม 18 ก.ย.ตัดสินใจร่วมกันต้องทดสอบในหนูใหม่ หรือไม่
นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานคณะกรรมการบริหารองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ผลการทดสอบในหนูอย่างละเอียด มีความชัดเจนแล้วว่าเชื้อที่พบคือ ไมโครพลาสมา ซึ่งไม่ได้เกิดจากวัคซีนแต่เป็นการแปรปรวนของสัตว์ทดลอง ดังนั้นขณะนี้ถือว่าไม่จำเป็นที่จะต้องเลื่อนการทดลองในอาสาสมัคร ในวันที่ 24 กันยายนนี้ อย่างไรก็ตาม คณะทำงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนักวิชาการ นักวิจัย จะมีการประชุมเพื่อตัดสินใจร่วมกันในวันที่ 18 กันยายนนี้ โดยจะหารือในหลายประเด็น เช่น หากที่ประชุมเห็นตรงกันว่าจะต้องทดสอบในหนูใหม่อีกครั้งเพื่อให้เกิดความมั่นใจก็อาจต้องรอจนถึงต้นเดือนตุลาคม แม้แต่จำนวนอาสาสมัครก็ต้องมาหากันอีกครั้งว่า จะทดลองในอาสาสมัคร ทั้ง 24 คนหรือแบ่งเป็นครั้งละ 12 คน เป็นต้น นอกจากนี้ยังต้องรอดูผลการเจาะเลือดหนูเพื่อตรวจดูการกระตุ้มภูมิคุ้มกันที่จะทราบผลในวันที่ 23 กันยายนนี้ นำมาประกอบกันก่อนที่เดินหน้าทำการทดลองต่อไป
“ผลในหนูทดลองที่พบฝีในปอดครั้งแรกนักวิจัยไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นเพราะอะไร และยังไม่มีความชัดเจน แต่ขณะนี้ผลชัดเจนว่าไม่เกี่ยวข้องกัน ในรัสเซียก็พบฝีในปอดหนูเช่นกัน แต่ก็ดำเนินการทดลองต่อไป และพบว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี ดังนั้น ส่วนตัวเห็นว่า ไม่จำเป็นที่ต้องทดลองกับหนูใหม่เพราะถึงแม้ว่ามีการทดลองใหม่กี่รอบก็อาจได้ผลเป็นเช่นเดิมก็ไม่สามารถยืนยันได้อีก เนื่องจากประเทศไทยยังมีข้อจำกัดในเรื่องสัตว์ทดลองหากต้องการไม่ให้มีข้อบกพร่องใดๆ เลย ต้องลงทุนในเรื่องนี้มากกว่านี้”นพ.วิชัยกล่าว