xs
xsm
sm
md
lg

กรมศิลป์ ทุ่ม 800 ล.ปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ทั่ว ปท.ประเดิมแหล่งทำเงินก่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (ภาพประกอบจากอินเทอร์เนต)
กรมศิลป์ทุ่มงบ 800 ล้าน ปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ทั่วประเทศ ชี้ งบน้อยทำให้ปัญหาหมักหมมไม่พัฒนา ประเดิมสังคายนาแหล่งทำเงินก่อน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เชียงใหม่ ภูเก็ต เริ่มได้ ต.ค.นี้

นายเกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า เนื่องในวันพิพิธภัณฑ์ไทย 19 ก.ย.นี้ กรมศิลปากรได้รับนโยบายจาก นายธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ให้ทำการรวบรวมข้อมูล รวมถึงปัญหาของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นทั่วประเทศ

ทั้งนี้ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อาทิ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร หอศิลป์ พิพิธภัณฑ์เรือพระราชพิธี พิพิธภัณฑ์กาญจนาภิเษก กรมศิลปากรจะรับผิดชอบ และศูนย์มนุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) รับผิดชอบส่วนพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น เบื้องต้นตนได้มอบให้พิพิธภัณฑ์แต่ละแห่งจัดทำแผนแม่บทเฉพาะเรื่องการปรับปรุงกายภาพ ภูมิทัศน์ อาคารสิ่งก่อสร้างใหม่เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้เข้าชม รวมไปถึงแนวทางการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่นักท่องเที่ยว

นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า ปัญหาและอุปสรรคของพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่คือได้รับงบประมาณน้อย ทำให้การพัฒนาไม่มีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม เมื่อรวมข้อมูลทั้งหมดแล้ว คณะกรรมการจะประชุมคัดเลือกพิพิธภัณฑ์ที่มีความจำเป็น มีศักยภาพอยู่ในพื้นที่รองรับการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศตามนโยบายรัฐบาลก่อน อาทิ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ พิพิธภัณฑ์จ.เชียงใหม่ ภูเก็ต เป็นต้น โดยงบประมาณดำเนินงานแบ่งเป็น 2 ส่วน

ส่วนแรกเป็นงบประมาณประจำปี 2552-2553 กว่า 400 ล้านบาท ใช้ในส่วนการปรับปรุงกายภาพ ภูมิทัศน์ อาคารสถานที่ ส่วนที่สองเป็นงบไทยเข้มแข็งกว่า 400 ล้านบาท ใช้ในการปรับปรุงกิจกรรม และการสร้างภาพลักษณ์ โดยเฉพาะกิจกรรมเน้นน่าสนใจ หลากหลาย มีนิทรรศการชั่วคราว จัดให้ความรู้วัฒนธรรมอื่นๆ ลานกิจกรรม ดนตรี การแสดง รวมไปถึงพัฒนาบุคลากรให้เก่ง ดี มีความสุข โดยจะเริ่มดำเนินงานทั้งหมดในเดือน ต.ค.นี้

“พิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์ชาติไทยและท้องถิ่นของประชาชนคนไทย นักเรียน นักศึกษาที่สามารถจับต้องได้จริง ที่สำคัญเพื่อสนองพระราชเสาวนีย์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงเป็นห่วงเรื่องการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทยของเด็กและเยาวชน เราจึงพยามปรับปรุงเนื้อหาพิพิธภัณฑ์ให้มีชีวิต นำเสนอเรื่องราวต่างๆ สอดคล้องกับหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาประวัติศาตร์ นอกจากเรียนในห้องเรียนแล้ว นักเรียน นักศึกษา ผู้สนใจยังสามารถศึกษาประวัติศาตร์จากของจริงจากในพิพิธภัณฑ์ ทั้งโบราณวัตถุที่เชื่อมโยงไปยังแหล่งโบราณสถานที่สำคัญๆ และตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงด้วย"นายเกรียงไกร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น