ท่ามกลางกระแสความหวาดกลัวโรคภัยร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเอง ทำให้กระแสรักษ์สุขภาพบูมมากขึ้นตามไปด้วย แต่ก็มีคนรักสุขภาพจำนวนไม่น้อยเหมือนกันที่มีความวิตกว่า โรคภัยบางอย่างที่มีพ่อแม่ญาติพี่น้องเป็น อาจจะส่งผลผ่านพันธุกรรมทำให้ไม่ว่าจะรักษาสุขภาพอย่างไร โรคที่อาจผ่านยีนก็ยังเกิดและทำร้ายร่างกายอยู่ดี แต่ในวันนี้ความกังวลดังกล่าวจะบรรเทา เพราะนวัตกรรมทางการแพทย์ สามารถทำได้ถึงขนาดการตรวจสอบยีน และคาดคะเนความน่าจะเกิดโรคในอนาคต
การตรวจชนิดนี้เรียกว่า Preventive Genetic Testing หรือหากเราจะเรียกวิธีนี้เล่นๆ ว่า “การอ่านพิมพ์เขียวร่างกาย” ก็คงจะไม่ผิดอะไรนัก
พญ.จิตแข เทพชาตรี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังและเวชศาสตร์ชะลอวัย โรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า คนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่า เวชศาสตร์ชะลอวัยเป็นเรื่องของความสวยความงามแต่เพียงอย่างเดียว และมองว่าการดูแลคนไข้มักจะเป็นไปในรูปของการรักษามากกว่า ซึ่งความเป็นจริงแล้วเวชศาสตร์ชะลอวัยในยุคนี้จะเน้นไปในด้านการป้องกันก่อนการเกิดอาการผิดปกติ
“การต้านความชราไม่ได้แปลว่าห้ามอาการเหี่ยวย่น หรือริ้วรอยก่อนวัย สำหรับเราชะลอความชรา คือ การป้องกันความเสื่อมที่จะเกิดขึ้นแก่ร่างกาย ด้วยวิธีการทำ Preventive Genetic Testing เป็นการตรวจหาความผิดปกติ ที่อาจเกิดขึ้นกับร่างกาย ตรวจเพื่อหาข้อมูลประเมินความเสี่ยงการเกิดโรค เป็นตรวจในระดับยีน กรรมวิธีการตรวจจะคล้ายๆ กับที่เราเห็นในซีรีย์ชุดซีเอสไอ คือ ใช้ไม้พันสำลีเข้าไปขูดเบาๆ ที่กระพุ้งแก้ม เพื่อนำเนื้อเยื่อบุกระพุ้งแก้มไปตรวจ
“วิธีนี้สะดวกมาก ทำง่าย ไม่เจ็บ ไม่เสียเวลา ก่อนตรวจเพียงแค่งดน้ำและอาหารก่อนหนึ่งชั่วโมงเท่านั้น สำหรับผลตรวจจะได้หลังจากตรวจประมาณ 4 สัปดาห์ ซึ่งผลตรวจนี้แม่นยำและเที่ยงตรง เพราะเมื่อเราเก็บตัวอย่างเสร็จแล้ว เราจะส่งไปตรวจหาผลที่ห้องปฏิบัติการในต่างประเทศ โดยเราเลือกเฟ้นห้องแลปที่มีชื่อเสียง มีผลงาน และเชื่อถือได้”
พญ.จิตแข อธิบายต่อไปอีกว่า หลังจากได้ผลออกมาแล้วพบว่า ผู้ที่เข้ารับการตรวจมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคใดๆ ทีมแพทย์ของโรงพยาบาลก็จะแนะนำวิธีการปฏิบัติตัวให้เหมาะสมขึ้น ทั้งอาหารการกิน การออกกำลังกาย สิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ การปฏิบัติตัวให้สอดคล้องกับรูปแบบร่างกาย การปรับตัวเพื่อต่อต้านโรคหรือความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตตามที่ผลตรวจระบุและทีมแพทย์พยากรณ์ล่วงหน้า
“พอเราเจอความผิดปกติปุ๊บ เราต้องอธิบายให้ผู้ที่เข้ารับการตรวจเข้าใจว่า ในระดับยีนเราพบแนวโน้มที่อาจเกิดความผิดปกติ แต่กว่าจะไปถึงความผิดปกติเหล่านั้น มันจะต้องถูกสนับสนุนด้วยปฏิกริยาเคมีต่างๆ กระตุ้นด้วย เช่นความเครียด วิถีชีวิตคนเมืองที่เร่งรีบ มลพิษ อาหารแปรรูป ซึ่งหากเราแนะนำ วางแผน ดูแลแก้ไขแต่ต้น ระวังไม่ให้ไปสัมผัสตัวกระตุ้น ความเสี่ยงที่มีก็จะมีโอกาสหายไปได้ และในกรณีที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับการรักษา ก็สามารถเลือกรับการรักษาที่เหมาะสมกับร่างกายของตน ทั้งปริมาณและชนิดของยาที่ใช้รวมถึงปริมาณฮอร์โมนทดแทนที่เหมาะสม ผู้ป่วยสามารถปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต การออกกำลังกาย การรับประทานอาหาร รวมถึงเลือกรับประทานอาหารเสริมให้สอดคล้องกับร่างกายของตน นำไปสู่สุขภาพที่แข็งแรง คุณภาพชีวิตที่ดีได้”
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยรายนี้กล่าวต่อไปว่า โรงพยาบาลกรุงเทพ ได้เปิดให้บริการการตรวจ Preventive Genetic Testing มาได้ระยะหนึ่งแล้ว และมีผู้สนใจเข้ารับการตรวจไม่น้อย ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มที่รักสุขภาพและตรวจเพื่อหาข้อมูลในการระวังรักษาสุขภาพของตนเอง ส่วนอีกกลุ่มเป็นพวกที่มีพ่อแม่ญาติพี่น้องป่วยเป็นโรคเรื้อรังหรือโรคร้ายแรงที่อาจติดต่อกันได้ทางพันธุกรรม มาตรวจเพื่อหาความเสี่ยง และรับคำแนะนำในการปฎิบัติตัวเพื่อลดเลี่ยงความเสี่ยงนั้น
“ตอนนี้ที่มาตรวจอยู่ ส่วนใหญ่จะเป็นการตรวจหาความเสี่ยงที่อาจจะทำให้ป่วยเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ภาวะกระดูกพรุน เส้นเลือดอุดตัน โรคหลอดเลือดหัวใจ และอัลไซเมอร์ และในอนาคตเราจะศึกษายีนในกลุ่มต่างๆ เพิ่มเติมขึ้นอีกเช่น ในกลุ่มสารสื่อประสาทที่มีส่วนที่ทำให้เกิดอาการของโรคซึมเศร้า ยังมีกลุ่ม Metabolic syndrome หรือที่เรียกว่า Syndrome X ซึ่งเป็นกลุ่มโรคสำคัญที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคเบาหวาน โรคอ้วน และการอักเสบของร่างกายอีกด้วย” พญ.จิตแข ทิ้งท้าย