xs
xsm
sm
md
lg

รัฐอุ้มเด็กไร้สัญชาติเรียนใน ร.ร.เร่งยกระดับศูนย์เรียนรู้ค่ายพักพิง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาข่าว
“ชัยวุฒิ” เผย รัฐบาลให้การดูแลด้านการศึกษาเด็กไร้สัญชาติ ลี้ภัยอย่างดี พบกว่า 7 หมื่นคนเข้าเรียนโรงเรียนตามระบบทั้งรัฐ เอกชน ได้รับสิทธิทุกอย่างเหมือนเด็กไทย พร้อมมอบ สพฐ.-สช.ดูแลยกระดับศูนย์เรียนรู้ในค่ายพักพิง เป็นศูนย์การเรียนเอกชน เตรียมผสาน มท. พม. กต.ดันร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีในการดูแลศูนย์การเรียนรู้ แก่เด็กไร้สัญชาติอย่างมีระบบ เข้า ครม.

วันนี้ (1 ก.ย.) นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวภายหลังการเข้าพบหารือของ นายวีรวิชญ์ เธียรชัยนันท์ ผู้อำนวยการประจำประเทศไทยของสำนักงานคณะกรรมการเพื่อผู้ลี้ภัยและผู้อพยพแห่งสหรัฐอเมริกา (USCRI) พร้อมด้วย น.ส.ไดอาน่า จงจินตนาการ ทูตผู้ลี้ภัยคนแรกของประเทศไทย ถึงมาตรการการช่วยเหลือด้านการศึกษาแก่เด็กผู้ลี้ภัย เด็กไร้สัญชาติภายในประเทศไทยว่า เด็กไร้สัญญาญชาติที่อยู่ในประเทศไทยมีกว่า 3 แสนคน ในจำนวนนี้รัฐบาลไทย ได้ให้ความอนุเคราะห์ และปฏิบัติตามมติ คณะรัฐมนตรีในการปฏิบัติตามหลักมนุษยธรรมมาโดยตลอด ทั้งนี้ ตัวเลขที่ขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการพบมีเด็กไร้สัญชาติ ผู้ลี้ภัยเข้าเรียนอยู่ในโรงเรียนตามระบบของรัฐ และเอกชน กว่า 7 หมื่นคน ซึ่งได้รับสิทธิทุกอย่างตามที่เด็กไทยได้ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายเรียนฟรีของรัฐบาล ทั้งๆ ที่เด็กไม่มีสัญชาติเลย อย่างไรก็ตาม ยังมีเด็กอีกจำนวนหนึ่งที่ติดตามพ่อแม่ ซึ่งเป็นคนต่างด้าว ไม่มีสัญชาติ โดยย้ายถิ่นฐานทั่วไป ซึ่งบางส่วนอยู่ในสถานที่พักพิงชั่วคราวใน 9 ศูนย์ทั่วประเทศ

ทั้งนี้ ศธ.กำลังดำเนินการในการให้เด็กส่วนหนึ่งในศูนย์เรียนรู้ภายในค่ายผู้ลี้ภัยที่ตั้งโดยองค์กรเอกชน ให้เข้ามาสู่ระบบ รวมทั้งเด็กในศูนย์พักพิงด้วย นอกจากนี้ยังมีอีกส่วนหนึ่งคือผู้ที่ไม่ได้อยู่ในระบบใดๆ เลย ซึ่งมีการย้ายถิ่นฐานกันเยอะมาก จึงมอบให้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(สช.) เข้าไปดูแลส่วนนี้ โดยศูนย์การเรียนรู้ใดที่สามารถยกระดับเป็นศูนย์การเรียนเอกชนได้ก็จะยกระดับขึ้นไป

“รัฐบาลตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันไม่ได้ทอดทิ้งเรื่องนี้ ซึ่งดูแลทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ และสิ่งที่กำลังดำเนินการคือขั้นตอนการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอ ครม.ก่อนส่งกฤษฎีกาตีความถึงรายละเอียดในการดูแลศูนย์การเรียนรู้ แก่เด็กไร้สัญชาติอย่างมีระบบ คือ เด็กที่อยู่ในที่พักพิง เด็กที่อยู่นอกศูนย์พักพิง และเด็กที่ยังหาตัวตนไม่เจออีกจำนวนหนึ่ง ทั้งนี้ที่ต้องเป็นร่างสำนักนายกฯ เพราะ ศธ.ทำโดยลำพังไม่ได้ โดยเรื่องนี้ถือเป็นความมั่นคง จึงต้องประสานกับ กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนสุดท้ายก่อนส่งเรื่องเข้า ครม.อีกครั้ง” นายชัยวุฒิ กล่าว

นายชัยวุฒิ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ นอกจากเรื่องของการศึกษาแล้ว ความเป็นอยู่แล้ว อยากให้ทาง USCRI หาแนวทางในการดูแลชาวบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเขาที่ได้รับสัญชาติไทยอย่างถูกต้องที่อาศัยอยู่บริเวณโดยรอบสถานที่พักพิงชั่วคราวด้วย เพราะการช่วยเหลือต่างๆ ก็ทุ่มไปให้กับผู้ลี้ภัย ซึ่งผู้มีสัญชาติไทยที่อยู่โดยรอบก็มีความเป็นอยู่ที่ไม่แตกต่างกัน แถมยังทำมาหากินด้วยตัวเอง แต่กลับไม่ได้รับการช่วยเหลือเลย
กำลังโหลดความคิดเห็น