xs
xsm
sm
md
lg

“สุขุมพันธุ์” โวขอเวลา 2 ปี กวาด “คนเร่ร่อน-ขอทาน-ขายตัว” เกลี้ยงสนามหลวง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“สุขุมพันธุ์” โว 2 ปี สนามหลวงจะมีพัฒนาการ คนเร่ร่อน-ขอทาน ค้าประเวณี จะหมดไป ประสานทุกภาคส่วนร่วมแก้ไข ขณะที่ “เจ๊แป้ง” เผย 6 เดือน รับเรื่องร้องเรียนขอทานเขมรมากสุด

วันนี้ (1 ก.ย.) ที่ท้องสนามหลวง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.เป็นประธานเปิดตัวโครงการทิ้ง จับ ปรับ เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาสำนักเทศกิจกรุงเทพมหานคร ปีที่ 24 เพื่อลดปัญหากลุ่มคนเร่ร่อนใช้พื้นที่สนามหลวง และโดยรอบเป็นแหล่งพักพิง รวมถึงการปราบปรามกลุ่มผู้ค้าประเวณี ค้าของผิดกฎหมาย พร้อมให้สัมภาษณ์ภายหลัง ว่า การดำเนินการมาตรการจัดระเบียบพื้นที่สนามหลวง อาทิ ไม่ให้เป็นพื้นที่แหล่งพักพิงของคนเร่ร่อน พื้นที่ประกอบอาชีพที่ผิดกฎหมาย เบื้องต้นตั้งใจว่าอยากให้เห็นผลเป็นรูปธรรมภายใน 2 ปี หรือในช่วงสมัยการบริหารของตน ซึ่งการทำโครงการที่เกี่ยวกับสังคม หรือ ประชาชนนั้นจะต้องอาศัยความเข้าใจและการเคารพในสิทธิมนุษยชน ซึ่งการแก้ไขปัญหาคนเร่ร่อนนั้น ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการทางกฎหมายที่เข้มงวดเข้าไปดำเนินการ เช่น จับกุม แต่ กทม.ได้ประสานไปยังกระทรวงแรงงาน และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมถึงหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องและอยู่ในพื้นที่ให้ร่วมมือกันดำเนินโครงการ เช่น การลงทะเบียนหางานให้กับคนเร่ร่อนที่ต้องการ การจัดที่พักอาศัยชั่วคราวให้เป็นต้น

ส่วนการกระทำที่ผิดกฎหมายนั้น หากเจ้าหน้าที่พบเห็นก็จะดำเนินการตามกฎหมายขั้นสูงสุดทันที ส่วนมาตรการอื่นๆ นั้น กทม.จะเข้าไปปรับปรุงเรื่องไฟฟ้าส่องสว่าง และให้เจ้าหน้าที่เทศกิจเข้าดูแลพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง หากมีความจำเป็น

ขณะที่นางนวลพรรณ ล่ำซำ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ทาง พม.ได้เปิดสายด่วนแจ้งเบาะแสพบคนเร่ร่อน ขอทาน ที่ 1300 พร้อมส่งเจ้าหน้าที่จากศูนย์ประชาบดีให้ความช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งจากการเปิดให้บริการมาทั้งหมด 6 เดือน พบว่า มีผู้ที่แจ้งเรื่องเข้ามาทั้งหมด 40,000 ราย ซึ่งส่วนใหญ่จะแจ้งเรื่องเกี่ยวกับพบเห็นขอทาน มากถึง 3,700 ราย ซึ่งขอทานส่วนใหญ่ที่เข้าไปตรวจสอบนั้น พบว่า เป็นคนต่างด้าว โดยเฉพาะจากประเทศกัมพูชา ซึ่งทางกระทรวงจะดำเนินการประสานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่อดำเนินการส่งตัวกลับประเทศต้นทางต่อไป ขณะที่มีผู้พิการซึ่งปะปนอยู่กับคนเร่ร่อน-ขอทานอีกกว่า 3,300 ราย โดยคนเร่ร่อนที่เป็นคนไทยจะส่งตัวไปยังสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งทั้งของกระทรวงเอง และของเอกชน หรือองค์กรสาธารณกุศลที่เปิดรองรับ เนื่องจากสถานที่รองรับของทางราชการมีไม่เพียงพอ พร้อมฝึกอบรมอาชีพให้เพื่อเป็นการสร้างงานสร้างรายได้

ส่วนการให้ความร่วมมือกับ กทม.นั้น ทางกระทรวงได้ตั้งโต๊ะลงทะเบียนคนเร่ร่อน และฝึกอาชีพตั้งแต่วันนี้ไปโดยไม่มีกำหนด ทั้งนี้ ปัญหาคนเร่ร่อน ขอทานที่สนามหลวง เป็นปัญหาที่สะสมมายาวนาน แต่เนื่องจากพื้นที่ท้องสนามหลวงเป็นสถานที่สำคัญของชาติ ทางกระทรวงจึงมีความตั้งใจเต็มที่ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งในโอกาสสถาปนาสำนักเทศกิจ กทม.ในครั้งนี้ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่หลายหน่วยงานได้มาร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ซึ่งกระทรวงยินดีให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ และจะเร่งแก้ปัญหาให้เห็นผลโดยเร็ว


กำลังโหลดความคิดเห็น