กทม.จ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแล้วกว่า 4 แสนราย พบปัญหาเลขที่บัญชีไม่ตรง - ถูกปิด ย้ายที่อยู่ คิดเป็น 2 เปอร์เซ็นต์ของผู้สูงอายุใน กทม. ขณะที่ปี 2553 เตรียมจ่ายกว่า 2 หมื่นล้านบาท เผยอนาคตอาจต้องรับภาระจ่ายเองเต็มร้อย
นางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกทม.ถึงความคืบหน้าการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุว่า กทม.เริ่มจ่ายเบี้ยยังชีพตั้งแต่เดือนเมษายน 2552 รวมมีผู้สูงอายุที่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพของ กทม.ปีงบประมาณ 2552 เป็นจำนวนทั้งสิ้น 474,219 ราย โดยขณะที่ดำเนินการพบอุปสรรคบ้างคิดเป็นร้อยละ 2 ประกอบด้วย กรณีรับเงินสด พบว่า ผู้สูงอายุมีการย้ายที่อยู่ ทำให้ไม่สามารถติดต่อได้ และผู้สูงอายุเสียชีวิตแล้ว กรณีโอนเงินเข้าบัญชีพบว่า บางบัญชีถูกปิดไปแล้ว หรือเลขบัญชีไม่ถูกต้อง หรือเปิดบัญชีผิดประเภท เช่น เป็นบัญชีฝากประจำ เนื่องจากต้องเป็นบัญชีสะสมทรัพย์ (ออมทรัพย์) เท่านั้น จึงจะโอนเงินเข้าได้ นอกจากนี้ บางรายชื่อเจ้าของบัญชีไม่ถูกต้อง และเลขที่บัญชีเปลี่ยนจากระบบ 7 หลัก เป็น 10 หลัก กรณีผู้สูงอายุขอเปลี่ยนวิธีการรับเงิน จาก รับเงินสดเป็นโอนเงินเข้าบัญชี หรือโอนเงินเข้าบัญชีเป็นรับเงินสด ทำให้ต้องใช้เวลาในการจัดทำข้อมูลและตรวจสอบความถูกต้องใหม่ ล่าสุด ระหว่างวันที่ 17-31 สิงหาคม 2552 ณ สำนักงานเขต 50 เขต มีการเปิดรับจดทะเบียนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ รายใหม่ สำหรับผู้ที่เกิดก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2492 พบว่า มีผู้สูงอายุที่แสดงความจำนงขอรับเบี้ยยังชีพ จำนวนเพิ่มเติมอีกประมาณการ 27,318 ราย รวมมีผู้สูงอายุที่ลงทะเบียนรวมประมาณ 5 แสนราย ซึ่งในปีงบประมาณ 2553 มีจำนวนเงินที่ต้องจ่ายเบี้ยยังชีพรวมเป็นเงินกว่า 27,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลช่วยเหลือ 60 % และกทม. ต้องสนับสนุนอีก 40%
นางทยากล่าวอีกว่า ทั้งนี้ สำนักพัฒนาสังคม กทม.จะแจ้งให้ผู้อำนวยการเขตประสานความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุที่ถูกต้อง ทั้งวิธีการจ่ายเงิน การลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพ และการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้เร็วที่สุด พร้อมกับให้สำนักพัฒนาสังคม ตรวจสอบแนวโน้มประชากรผู้สูงอายุในอนาคตเพื่อการตรวจสอบด้านงบประมาณ และวางแผนงบประมาณในระยะยาว เนื่องจากในอนาคต กทม.จะมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น และอาจจะต้องรับภาระในการจ่ายเบี้ยยังชีพด้วยงบประมาณของตัวเอง 100%