xs
xsm
sm
md
lg

พบผู้ป่วยโรคฉี่หนูปีนี้ 1,835 ราย ตายแล้ว 16 ราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สธ.เผยต้นปีถึงกลางเดือน ส.ค.นี้ พบผู้ป่วยด้วยโรคฉี่หนู 1,835 ราย เสียชีวิต 16 ราย อีสานเจอผู้ป่วยมากสุด เตือนผู้ที่มีแผลที่ขาหรือเท้า หลีกเลี่ยงเดินลุยน้ำ ผักสดที่เก็บจากทุ่งนา ต้องล้างให้สะอาดก่อนกิน

วันนี้ (30 ส.ค.) นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีฝนตกชุก โรคที่พบได้บ่อยในฤดูกาลนี้ คือ โรคเลปโตสไปโรซีส (Leptospirosis) หรือที่ชาวบ้านเรียกโรคฉี่หนู โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วประเทศและอาสาสมัครสาธารณสุข ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้วิธีการป้องกันตัว พร้อมทั้งเฝ้าระวังการเจ็บป่วย หากมีรายงานผู้ป่วย ให้ส่งทีมลงไปสอบสวนโรค เพื่อทำการควบคุมโรคได้อย่างทันท่วงที โดยทั่วไปโรคฉี่หนูพบผู้ป่วยได้ประปรายตลอดปี แต่จะพบมากในช่วงเดือนพฤษภาคม-ตุลาคมของทุกปี

ในปี 2552 นี้ ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงกลางเดือนสิงหาคม ทั่วประเทศพบผู้ป่วย 1,835 ราย เสียชีวิต 16 ราย มากที่สุดที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1,180 ราย เสียชีวิต 7 ราย โดย จ.กาฬสินธุ์ พบผู้ป่วยมากที่สุด 145 ราย ภาคใต้ป่วย 376 ราย เสียชีวิต 3 ราย พบผู้ป่วยมากที่สุดที่ จ.ระนอง 69 ราย ภาคเหนือป่วย 197ราย เสียชีวิต 4 ราย ผู้ป่วยมากที่สุดที่ จ.น่าน 32 ราย และภาคกลางป่วย 82 ราย เสียชีวิต 2 ราย พบผู้ป่วยมากที่สุดที่ จ.จันทบุรี 20 ราย โดยตลอดปี 2551 พบผู้ป่วย 4,210 ราย เสียชีวิต 73 ราย

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป กล่าวว่า สาเหตุของโรคฉี่หนู เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในปัสสาวะของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น หนู วัว ควาย โดยเชื้อจะปนเปื้อนอยู่ตามน้ำที่ขังเฉอะแฉะตามพื้นดินที่เปียกชื้น หรือปนเปื้อนพืชผักที่ขึ้นตามทุ่งนา เชื้อสามารถไชเข้าสู่ร่างกายทางรอยแผลตามผิวหนัง รอยขีดข่วน และเข้าทางเยื่อบุของปาก ตา จมูก หรือไชผ่านผิวหนังปกติที่แช่น้ำอยู่นานๆ ก็ได้ โดยคนมักติดเชื้อขณะเดินย่ำดินโคลน เดินลุยน้ำท่วม หรือจากการกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่ ซึ่งเชื้อโรคฉี่หนูนี้มีชีวิตอยู่ในน้ำได้นานหลายเดือน ประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อโรคนี้ได้แก่ ผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน มีอาชีพทำไร่ทำนา

อาการสำคัญของโรคนี้ คือ มีไข้สูง ปวดศีรษะ และปวดกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะบริเวณน่องและโคนขา บางรายมีอาการตาแดงร่วมด้วย ส่วนใหญ่จะป่วยหลังได้รับเชื้อประมาณ 4-10 วัน หากมีอาการดังกล่าว ขอให้รีบพบแพทย์เป็นการด่วน พร้อมทั้งแจ้งประวัติการทำงานหรือประกอบอาชีพที่ต้องอยู่ในน้ำหรือลุยน้ำย่ำโคลน ให้แพทย์ทราบด้วย ซึ่งโรคนี้มียารักษาหายขาด อย่าปล่อยไว้จนเรื้อรัง เนื่องจากจะเกิดโรคแทรกซ้อนรุนแรง คือ ไตวาย ตับวาย ทำให้เสียชีวิตได้ โดยมีอัตราเสียชีวิตร้อยละ 15-40
 
การป้องกันไม่ให้ป่วยเป็นโรคฉี่หนู ประชาชนควรสวมรองเท้าบูททุกครั้ง หลีกเลี่ยงการแช่น้ำ เดินลุยน้ำนานๆ ไม่ลงว่ายน้ำขณะที่มีน้ำท่วมขัง โดยเฉพาะผู้ที่มีบาดแผลหรือรอยถลอก รอยขีดข่วน หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรปิดพลาสเตอร์ที่แผลก่อนลงน้ำและรีบล้างเท้าให้สะอาดและเช็ดให้แห้ง ส่วนผักสดที่เก็บมาจากทุ่งนา ต้องล้างให้สะอาดก่อนกิน หากบริโภคน้ำบ่อน้ำตื้น ควรต้มให้เดือดก่อนเพื่อฆ่าเชื้อโรค ดูแลบ้านเรือนให้สะอาด กำจัดขยะ ไม่ให้เป็นที่อยู่และแหล่งอาหารของหนู ควรเก็บอาหารไว้ในที่มิดชิด อาหารที่ค้างมื้อ จะต้องนำมาอุ่นให้ร้อนก่อนกิน และล้างมือทุกครั้งก่อนกินอาหาร
กำลังโหลดความคิดเห็น