xs
xsm
sm
md
lg

แพทย์ห่วงผู้ชุมนุมพักผ่อนน้อยร่างกายอ่อนเพลีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แพทย์ห่วงผู้ชุมนุมร่างกายอ่อนเพลีย พักผ่อนน้อย ภูมิคุ้มกันอ่อนแอป่วยได้ง่าย แนะรู้ตัวว่าเป็นหวัดใช้หน้ากากอนามัยป้องกันแพร่เชื้อให้หน่วยแพทย์ตรวจดูอาการ แล้วให้กลับไปพักผ่อนที่บ้านให้หาย เตือนชุมนุมระยะยาวอาจเกิดโรคระบาดได้ ส่วนที่พบโรคมือ-เท้า-ปาก ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กชลบุรี ส่งเจ้าหน้าที่ควบคุมโรคลงพื้นที่แล้ว

นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงปัญหาด้านสุขภาพของผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ว่า เนื่องจากในช่วงนี้เป็นฤดูฝนไม่เฉพาะผู้ที่ชุมนุมเท่านั้นที่จะต้องดูแลสุขภาพ แต่รวมถึงประชาชนทั่วไปก็ต้องระมัดระวังด้วยเช่นกัน ซึ่งโรคที่มักมากับฝน เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ โรคท้องร่วง และโรคผิวหนัง โดยเฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งพบว่ามีการระบาดอยู่ในชุมชนหลายแห่ง สามารถติดต่อโดยการไอ หรือ จาม สัมผัสเสมหะของผู้ป่วยทางแก้วน้ำ หรือสัมผัสทางมือที่ปนเปื้อนเชื้อโรค สำหรับในที่ชุมนุมที่เป็นบริเวณที่มีความแออัด ยิ่งทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายได้ง่าย ดังนั้น หากรู้ตัวว่าไม่สบายควรใช้หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกัน แล้วเข้าตรวจร่างกายในหน่วยแพทย์ที่ให้บริการบริเวณที่ชุมนุม ซึ่งหากพบว่าอาการรุนแรงก็จะมีการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลใกล้เคียง ซึ่งศูนย์นเรนทรให้การดูแลช่วยเหลือ ตลอด 24 ชั่วโมงอยู่แล้ว หากป่วยสามารถแจ้งได้ทันที

นพ.คำนวณ กล่าวต่อว่า นอกจากโรคไข้หวัดแล้ว โรคผิวหนังยังเกิดได้ง่าย เนื่องจากเสื้อผ้าอาจเปียกชื้นตลอดเวลาทำให้เกิดอาการคันและเป็นเชื้อราได้ ยิ่งหากบริเวณชุมนุมเกิดน้ำท่วมขังก็จะทำให้เป็นโรคน้ำกัดเท้า จึงควรผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้าที่แห้งและให้หน่วยบริการการแพทย์ตรวจอาการที่เกิดขึ้น อีกทั้ง ยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคอาหารเป็นพิษ หากรับประทานอาหารที่ปรุงเอาไว้นานเกิน 2 ชั่วโมง เนื่องจากมีโอกาสที่จะเชื้อโรคจะก่อตัวได้ จึงไม่ควรนำมารับประทาน

“ที่น่าเป็นห่วง คือ การที่ผู้ชุมนุมพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอจึงป่วยได้ง่ายมากกว่าประชาชนทั่วไป อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่ได้รับการประสานงานจากหน่วยแพทย์ในที่ชุมนุมว่าต้องการความช่วยเหลือใด เป็นพิเศษ เนื่องจากขณะนี้พบว่าผู้ชุมนุมมีอาการป่วยเพียงเล็กน้อย อาการไม่รุนแรง”นพ.คำนวณ กล่าว

นพ.คำนวณ กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม ขอเตือนประชาชนที่ไปร่วมชุมนุมที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หรือโรคเรื้อรังอื่นๆ ที่จำเป็นต้องรับประทานยาเป็นประจำ ด้วยหลักทางการแพทย์ไม่แนะนำให้มาร่วมชุมนุม เนื่องจากด้วยสภาพอากาศ สิ่งแวดล้อมแออัด การพักผ่อนไม่เพียงพอ จึงอาจทำให้โรคกำเริบ หรือติดเชื้อแทรกซ้อนได้ เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน หากต้องแช่น้ำนานๆ อาจทำให้เกิดแผลไม่รู้ตัวลุกลามได้ อีกทั้งยังควบคุมเรื่องอาหารยากอีกด้วย ส่วนโรคฉี่หนูนั้นไม่ต้องวิตกกังวล เพราะโรคนี้จะเกิดในเกษตรกรที่ต้องลุยน้ำขังเป็นเวลานาน ถูกหอยบาดเป็นแผลทำให้ติดเชื้อโรค ขณะที่ที่ชุมนุมไม่มีน้ำขัง ไม่มีสัตว์ที่เป็นพาหะ

ด้าน นพ.ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในการชุมนุมระยะยาวนั้น ขอเตือนให้ระวังโรคทางเดินอาหาร ได้แก่ อุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ โรคไข้ไทฟอยด์ โรคทางเดินหายใจ ได้แก่ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ และโรคตาแดง ถ้ามีผู้ป่วยด้วยโรคดังกล่าวขอให้งดการชุมนุม กลับไปรักษาตัวที่บ้านให้หายก่อน เพื่อเป็นการป้องกันโรคไม่ให้แพร่ไปสู่ผู้อื่น ซึ่งขณะนี้กรมควบคุมโรคได้เฝ้าระวังโรคติดต่อในหมู่ผู้ชุมนุมทุกกลุ่มอยู่ห่างๆ ขณะนี้ยังไม่มีโรคระบาด

นพ.ธวัช กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่พบเด็กนักเรียนจากศูนย์นักเรียนศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลเมืองศรีราชา จ.ชลบุรี ป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปาก ขณะนี้ส่งเจ้าหน้าที่จากสำนักงานป้องกันและควบคุมโรคที่ 3 จ.ชลบุรี ลงไปป้องกันและควบคุมโรคแล้ว

“โรคนี้พบประปรายในประเทศไทย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โรคนี้ติดต่อทางปาก โดยการกินอาหารร่วมกัน ใช้ของร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า เล่นของเล่นด้วยกันโรคนี้ติดต่อได้ง่าย อาการของโรคผู้ป่วยจะมีอาการไข้ร่วมกับตุ่มเล็ก เกิดขึ้นที่ผิวหนัง บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และในปาก ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรงหายเองได้ แต่บางรายอาจรุนแรงถึงเสียชีวิต” นพ.ธวัช กล่าว

นพ.ธวัช กล่าวอีกว่า สำหรับการป้องกันต้องหลีกเลียงไม่ใกล้ชิดผู้ป่วย ล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหาร และหลังขับถ่าย ไม่ใช้ของใช้ร่วมกัน ถ้ามีเด็กป่วยให้หยุดรักษาตัวอยู่ที่บ้าน ในสถานที่ที่มีเด็กอยู่รวมกันมากๆ เช่น ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอาจใช้มาตรการหยุดเรียนเป็นห้องเรียน หรือชั้นเรียน หรือปิดโรงเรียนก็ได้ตามแนวทางที่กรมควบคุมโรคแนะนำ ในปี 2550 พบผู้ป่วยมือ เท้า ปาก ทั้งหมด 14,255 ราย โดยภาคกลางมีผู้ป่วยสูงสุด
กำลังโหลดความคิดเห็น