คณะอนุฯ หวัด 2009 สสส.หนุนงบ 5 ล้านให้ สกอ.ส่งต่อมหา’ลัย 165 แห่ง ทั่วประเทศจัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันหวัด ดีเดย์ 9/09/2009 “ชัยวุฒิ” เชื่อได้มาตรการดี ป้องกันนิสิต นักศึกษา คณาจารย์ ได้อีก 2 ล้านกว่าคน
วันนี้ (25 ส.ค.) ที่โรงแรมเอเชีย สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ร่วมกับคณะอนุกรรมการสนับสนุนป้องกัน ควบคุม และการแก้ปัญหาการแพร่ระบาด ของไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 สสส. แถลงความร่วมมือรณรงค์ป้องกันไข้หวัด 2009 ระหว่าง สกอ.-สสส. โดย นพ.มงคล ณ สงขลา ประธานคณะอนุกรรมการฯ กล่าวว่า จากสถิติพบว่า ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่จะเกิดในกลุ่มอายุ 11-40 ปี เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งไทยมีประชากรในช่วงวัยดังกล่าวถึง 30 ล้านคน จึงถือเป็นกลุ่มเสี่ยงสำคัญ ที่มีโอกาสป่วยและมีอาการรุนแรงได้ แม้จะไม่มีโรคประจำตัว สถิติที่ผ่านมาผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตด้วยโรคไข้หวัด 2009 ที่อยู่ในกลุ่มอายุ 11-40 ปี มีอัตราตายถึง 30% จึงต้องไม่ประมาท เพราะยังไม่สามารถพึ่งยารักษาโรคหรือวัคซีนได้ 100% ดังนั้นการรณรงค์ป้องกันอย่างเข้มข้นต้องเดินหน้าต่อไป ซึ่งกลุ่มนิสิต นักศึกษา ถือเป็นพลังสำคัญที่จะร่วมต่อสู่กับไข้หวัด 2009 เนื่องจากนิสิต นักศึกษา มีศักยภาพที่จะช่วยให้สังคมตระหนักและเกิดความตื่นตัว สสส.จึงร่วมกับ สกอ.จัดโครงการรณรงค์ป้องกันไข้หวัด 2009 โดยจะเริ่มตั้งแต่ ก.ย. 2552 - เม.ย.2553
“สสส.จะจัดงบประมาณให้กับ สกอ.ประมาณ 5 ล้าน เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน 165 แห่ง โดยถือเอาวันที่ 9 เดือน 9 ปี 2009 เป็นวันเริ่มต้นการรณรงค์ครั้งใหญ่พร้อมกันทุกสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ โดยเบื้องต้นจะสนับสนุนงบประมาณให้สถาบันอุดมศึกษาแห่งละไม่เกิน 10,000 บาท เพื่อจัดกิจกรรมรณรงค์ จากนั้นจะมีคณะกรรมการร่วมกันระหว่าง สกอ. สสส. และ ตัวแทนมหาวิทยาลัย เพื่อให้นิสิต นักศึกษาเสนอโครงการต่อเนื่องที่จะเผยแพร่รณรงค์ทั้งมหาวิทยาลัยและชุนชนโดยรอบ ภายใต้งบประมาณ 20,000 บาท ซึ่งเชื่อมั่นว่าโครงการนี้ จะทำให้นิสิต นักศึกษา กลายเป็นบุคลากรสำคัญที่จะป้องตนเองและป้องกันผู้อื่นจากโรคไข้หวัด 2009”นพ.มงคล กล่าว
นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การรณรงค์ป้องกันไข้หวัด 2009 ถือเป็นอีกหนึ่งนโยบายสำคัญของ ศธ.ในส่วนของ สกอ.ก็ได้รณรงค์อย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นแหล่งชุมนุมของเยาวชนที่หนาแน่น สถาบันอุดมศึกษาทั้ง 165 แห่ง มีนักศึกษาประมาณ 2,027,882 มีคณาจารย์และบุคลากรราว 63,197 คน กรณีมีผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อการระบาดจะกระจายได้อย่างรวดเร็ว และยังแพร่ไปถึงชุมชนได้โดยง่าย ในทางกลับกันถ้ามีมาตราการที่ดีจะป้องกันคนกลุ่มนี้จากโรคร้ายได้ ซึ่งน่ายินดีที่ สกอ.ได้จับมือ สสส.เพื่อจัดรณรงค์ป้องกันการแพร่ระบาดของไข้หวัด 2009 อย่างเข้มข้น ซึ่งสถาบันอุดมศึกษาพร้อมใจกันประกาศตัวเป็นภาคีรณรงค์ในเรื่องนี้
นายชัยวุฒิกล่าวอีกว่า โครงการนี้เป็นความร่วมพลังครั้งสำคัญของสถาบันอุดมศึกษา 165 ทั่วประเทศ ทั้งของรัฐและเอกชน กิจกรรมหลักๆ ที่สถาบันอุดมศึกษาจะดำเนินการคือ 1.สถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งจะจัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันไข้หวัด 2009 ตั้งแต่เดือน ก.ย.นี้ 2.สถาบันอุดมศึกษาที่มีหน่วยงานพยาบาล งานอนามัย คณะวิชาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ หรือหน่วยงานอื่นในมหาวิทยาลัยที่ได้รับมอบหมาย จะเปิดศูนย์หรือหน่วยบริการให้คำปรึกษาด้านการป้องกัน การรักษากับนิสิตนักศึกษา บุคลากร และประชาชนทั่วไป 3.นิสิต นักศึกษา ชมรม หรือคณะ จัดกิจกรรมอาสาสมัครโดยเสนอขอความสนับสนุนผ่านสถาบัน อุดมศึกษามายังคณะกรรมการพิจารณาโครงการ ซึ่งกิจกรรมสามารถรณรงค์ได้ทั้งในสถาบันและชุมชนรอบข้าง