xs
xsm
sm
md
lg

มะเร็งทำคนไทยตายเฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แพทย์จุฬาฯ เผยข้อมูลน่าห่วงเกี่ยวกับสถานการณ์โรคมะเร็งในไทย ปี 2551 พบคนไทยป่วยเป็นโรคมะเร็งกว่า 120,000 คน ขณะที่ปี 2550 เฉลี่ยคนไทยเสียชีวิตชั่วโมงละ 6 คน ชี้มะเร็งตับคร่าชีวิตชายไทยมากที่สุด ส่วนผู้หญิงพ่ายมะเร็งปากมดลูกเสียชีวิตเป็นอันดับ 1 ย้ำการพิชิตโรคมะเร็งต้องทำแบบบูรณาการ เน้นดูแลทั้งคนและไข้ ให้ความสำคัญกับผู้ป่วยและโรคเท่ากัน

รศ.นพ.นรินทร์ วรวุฒิ แพทย์ประจำหน่วยมะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยในงานสัมมนาทางวิชาการ “ห่วงใย ใส่ใจ...พิชิตมะเร็ง” ซึ่งจัดโดยชมรมฟื้นฟูผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย ร่วมกับ บริษัท เฟยดา จำกัด ว่าตั้งแต่ปี 2548-2550 พบว่าสถิติการเสียชีวิตของคนไทยนั้น เกิดจากโรคมะเร็งสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง โดยเฉพาะในปี 2550 มีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งสูงถึง 53,434 คน และพบว่าทุกๆ หนึ่งชั่วโมงจะมีผู้เสียชีวิต 6 คน โดยในปีที่ผ่านมาพบว่า คนไทยป่วยเป็นโรคมะเร็งกว่า 120,000 คน ทั้งนี้ผู้ชายไทยเป็นมะเร็งตับมากที่สุด รองลงมาคือมะเร็งปอดและมะเร็งลำไส้ใหญ่ ส่วนผู้หญิงไทยเป็นมะเร็งปากมดลูกมากที่สุด รองลงมาคือ มะเร็งเต้านม และมะเร็งปอด ตามลำดับ

“แนวโน้มคนไทยป่วยเป็นโรคมะเร็งสูงขึ้นทุกปี ซึ่งกว่าร้อยละ 70 ของโรคมะเร็งเกิดจากสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศที่เปลี่ยนไปมีมลภาวะเพิ่มมากขึ้น สารพิษที่ปนเปื้อนมากับอาหาร รวมถึงความเครียดภายในจิตใจ ซึ่งเกิดจากสภาพการดำรงชีวิตในปัจจุบันที่เต็มไปด้วยปัญหาเศรษฐกิจและปากท้อง และสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งทั้งสิ้น ดังจะเห็นได้จากอุบัติการณ์ในการเกิดโรคมะเร็ง โดยเฉลี่ยแล้วทุกๆ 3 ชั่วโมงจะพบว่าผู้หญิงไทยป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านม 2 คน และพบว่ามีอัตราการเสียชีวิตถึงร้อยละ 30 ของการเกิดโรคมะเร็งเต้านม”

รศ.นพ.นรินทร์ กล่าวต่อไปว่า แนวทางการรักษาโรคมะเร็งแบบ “บูรณาการ” (Integration) เป็นการรักษาแบบองค์รวม (Holistic) ในรูปแบบของศาสตร์ตะวันออก กล่าวคือ เป็นแนวทางการรักษาที่ต้องดูแล “คน” ซึ่งเป็นผู้ป่วยควบคู่ไปกับการดูแลไข้หรือ “โรค” นั่นเอง โดยสามารถแบ่งศาสตร์การรักษาแบบบูรณาการได้เป็น 6 มิติ คือ

1.ผู้ป่วยซึ่งก็คือร่างกาย 2.จิตใจ 3.จิตวิญญาณ 4.ญาติหรือครอบครัวผู้ดูแลผู้ป่วย 5.สิ่งแวดล้อมรอบตัวซึ่งทางโบราณคติรวมถึงจักรวาลด้วย 6.สังคมส่วนรวม

“จากการศึกษาพบว่า การรักษาโรคมะเร็งแบบบูรณาการนี้ได้รับการยอมรับทางการแพทย์อย่างแพร่หลาย เนื่องจากสามารถปรับให้เข้ากับวิถีชีวิตและหลักปรัชญาของคนไทย สร้างสมดุลย์ของผู้ป่วยและการบำบัดรักษา ซึ่งให้ความสนใจในความเป็นมนุษย์สำคัญเทียบเท่ากับอาการของโรค ดังนั้น แนวทางการรักษาแบบบูรณาการจึงค่อนข้างมีความแตกต่างจากศาสตร์การรักษาของทางตะวันตก ที่เน้นการรักษาโรคมากกว่าการให้ความสำคัญกับความเป็นคนไข้ แต่ทั้งนี้การที่จะสามารถเอาชนะโรคมะเร็งได้นั้น ผู้ป่วยจะต้องรู้เท่าทันโรคมะเร็งเป็นอย่างดี โดยเฉพาะการรู้ถึงสาเหตุของการเกิดโรคและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่สำคัญคือ การที่ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ซึ่งจะให้ผลดีที่สุดและสามารถรักษาให้หายขาดได้”

รศ.นพ.นรินทร์ กล่าวในตอนท้ายว่า สำหรับยาที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งนั้น นอกจากที่จะใช้ยาแผนปัจจุบันแล้ว ผู้ป่วยจำนวนมากเชื่อว่า ยาสมุนไพรก็มีส่วนที่สำคัญในการรักษาเช่นกัน ซึ่งทางการแพทย์พบว่า ยาสมุนไพรก็มีส่วนช่วยในการรักษาหรือบรรเทาอาการของโรคได้มากถึงร้อยละ 20 แต่อย่างไรก็ตาม การที่ผู้ป่วยจะตัดสินใจใช้ยาสมุนไพรร่วมในการรักษาโรคมะเร็งนั้น จำเป็นต้องมีการศึกษาอย่างรอบคอบว่ายาสมุนไพรแต่ละชนิด ได้ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยา (อย.) และได้ขึ้นบัญชีเป็นยาสมุนไพรอย่างถูกต้องหรือไม่ และที่สำคัญควรได้รับคำปรึกษาจากแพทย์อย่างใกล้ชิด เพื่อขอรับคำแนะนำเกี่ยวกับการรับประทานยาสมุนไพรควบคู่กับไปกับการรักษาด้วยยาแผนปัจจุบัน

“กำลังใจจากบุคคลรอบข้างไม่ว่าจะเป็นญาติพี่น้องเพื่อนพ้องหรือคนในสังคม ถือเป็นยาวิเศษที่ผู้ป่วยโรคมะเร็งก็ต้องการไม่น้อยไปกว่าวิทยาการการรักษาในรูปแบบต่างๆ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า กายและใจเป็นของคู่กัน แม้กายป่วยแต่หากใจไม่ป่วยตามไปเพราะมีกำลังใจที่ดีเยี่ยม ย่อมส่งผลให้ผู้ป่วยสามารถอยู่กับโรคมะเร็งได้อย่างเป็นสุข อีกทั้งผู้ป่วยหรือผู้ดูแลผู้ป่วยยังสามารถหากิจกรรมบำบัดที่สามารถทำร่วมกันเพื่อเป็นการคลายเครียดให้แก่ผู้ป่วยได้ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย การใช้ดนตรีบำบัด การใช้ธรรมมะบำบัด การใช้สมุนไพรบำบัด หรือที่เรียกว่า Mind Body Treatment นั่นเอง ซึ่งทางชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย ก็เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่ผู้ป่วยโรคมะเร็ง รวมถึงครอบครัว บุคคลใกล้ชิดหรือผู้ดูแลผู้ป่วยสามารถใช้เป็นศูนย์กลางในการขอรับข้อมูลข่าวสารและขอรับคำปรึกษาในการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยที่ถูกต้องได้เป็นอย่างดีเช่นกัน”
กำลังโหลดความคิดเห็น