xs
xsm
sm
md
lg

สุดเสื่อม! พม.เผยพ่อบังเกิดเกล้าข่มขืนลูกในไส้มากขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เนต
แฉสถิติเด็กถูกกระทำความรุนแรง ปี 52 เพิ่มเป็น 71 ราย จากปีที่แล้วมีเพียง 16 ราย อึ้ง! พ่อบังเกิดเกล้าข่มขืน-กระทำความรุนแรงต่อลูกตัวเองมากขึ้น ระบุ มีผู้เข้ารับการสงเคราะห์ในสำนักคุ้มครองสวัสดิภาพหญิงและเด็ก และบ้านพักเด็กและครอบครัวรวม 54 แห่ง ช่วงเดือน ต.ค.51-มิ.ย.52 234 ราย กรณีล่วงละเมิดทางเพศสูงสุด 177 ราย พม.เต้นรุกจัดทำฐานข้อมูลคุ้มครองเด็ก

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้จัดประชุมคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติครั้งที่ 3/2552 โดยมี นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานการประชุม โดย นางอุบล หลิมสกุล รองปลัด พม.ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการ ได้นำเสนอข้อมูลการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 โดยรวบรวมรายงานจากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) พบปี 2552 มีเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรง 71 ราย เพิ่มจากปี 2551 ซึ่งมีเพียง 16 ราย ในจำนวน 71 ราย เป็นการถูกล่วงละเมิดทางเพศมากที่สุด 37 ราย ถูกนำไปแสวงหาประโยชน์ 20 รายและถูกทารุณกรรม 14 ราย ช่วงอายุที่ถูกกระทำมากที่สุดคือ 12-15 ปี 28 ราย 9-11 ปี 14 ราย ต่ำกว่า 3 ปี 8 ราย

โดยบุคคลที่กระทำต่อเด็กกรณีล่วงละเมิดทางเพศ เป็นบุคคลในครอบครัว 16 ราย ในจำนวนนี้เป็นบิดาแท้ๆ 4 ราย กรณีกระทำทารุณกรรมก็เป็นบุคคลในครอบครัว 16 ราย โดยสูงสุดเป็นบิดาแท้ๆ ถึง 5 ราย ขณะที่ข้อมูลจำนวนผู้เข้ารับการสงเคราะห์ในสำนักคุ้มครองสวัสดิภาพหญิงและเด็กและบ้านพักเด็กและครอบครัวรวม 54 แห่งในช่วงเดือน ต.ค.2551-มิ.ย.2552 พบมีเด็กที่ถูกทารุณกรรมเข้ารับการดูแล 234 ราย โดยเป็นกรณีการล่วงละเมิดทางเพศสูงสุดถึง 177 ราย ส่วนข้อมูลจากศูนย์ประชาบดีตั้งแต่ ม.ค.-ก.ค.2552 ได้ช่วยเหลือเด็กที่ถูกกระทำจำนวน 124 ราย แยกเป็นล่วงละเมิดทางเพศ 40 ราย และทารุณกรรม 84 ราย

นางอุบล กล่าวต่อว่า ข้อมูลบางส่วนเป็นข้อมูลดิบซึ่งยังไม่มีการวิเคราะห์ แต่ก็สะท้อนถึงปัญหาที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น จึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องวางแผนการทำงานเชิงรุกในการป้องกันและแก้ปัญหาให้มากขึ้น ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งที่ พม.จะใช้เป็นฐานในการจัดทำระบบข้อมูลคุ้มครองเด็กในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำฐานข้อมูล 2 รูปแบบ คือ ฐานข้อมูลด้านสถิติ เบื้องต้นจะจัดทำ 4 กลุ่มคือ กลุ่มเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ทารุณกรรม กลุ่มเด็กถูกทอดทิ้ง ปล่อยปละละเลย กลุ่มเด็กที่ถูกแสวงหาประโยชน์ และกลุ่มเด็กที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง และฐานข้อมูลรายบุคคล ทั้งนี้ จะจัดทำเป็นฐานข้อมูลที่มีโปรแกรมเฉพาะสามารถเชื่อมโยงกับหน่วยงานเครือข่ายได้

ด้าน นายอิสสระ กล่าวว่า น่าวิตกอย่างยิ่งที่แนวโน้มเด็กถูกกระทำความรุนแรงมีมากขึ้น และที่น่าตกใจคือคนใกล้ตัวโดยเฉพาะผู้เป็นพ่อแท้ๆ และพ่อเลี้ยง เป็นผู้กระทำเสียเอง ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะการดื่มสุรา และหาทางออกระบายกับลูก และเชื่อว่า ยังมีอีกมากที่ไม่ได้เปิดเผย เป็นปัญหาที่ต้องร่วมกันคิดหาทางแก้โดยเร่งด่วน เพราะถือเป็นภัยมืดใกล้ตัว

กำลังโหลดความคิดเห็น