“จุรินทร์” เผยเตรียมต่อยอดเรียนทางไกลผ่านดาวเทียม เชื่อม ร.ร.วังไกลกังวล กับ ร.ร.ขนาดเล็ก ร.ร.ขยายโอกาส สังกัด สพฐ. สช.ทั่วประเทศ 9,179 แห่ง แบ่งดำเนินการ 2 ระยะ เริ่มภาคเรียนที่ 2 เดือน พ.ย.ปีนี้ กับร.ร. 4,007 แห่งที่มีจานอยู่แล้ว ที่เหลือเริ่มระยะที่ 2 เดือน พ.ค.ปีการศึกษา 53 พร้อมตั้ง “ชินภัทร” ประธานคณะทำงาน ร่วม ผู้แทน ร.ร.วังไกลกังวล-สพฐ.-สช. จัดทำคู่มือสอน อบรมครู ร.ร.ปลายทาง ผลิตสื่อสอนเสริม ยกระดับคุณภาพผู้เรียน เน้น ป.3, ป.6 และ ม.3, ม.6 เป็นพิเศษ
วันนี้ (17 ส.ค.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) กล่าวภายหลังการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักว่า โครงการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้ (อีเลิร์นนิ่ง) ที่จะต่อยอดจากโรงเรียนวังไกลกังวลนั้น ในขณะนี้ได้ข้อสรุปทั้งหมดแล้ว โดยตั้งเป้าใช้ระบบนี้กับโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนขยายโอกาส โรงเรียนมัธยมขนาดเล็ก ที่มีผลการทดสอบผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาระดับชาติ (NT) และ แบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ต่ำกว่าเกณฑ์ เพราะโรงเรียนเหล่านี้เป็นโรงเรียนที่ขาดครู ทั้งนี้จากการสำรวจตัวเลขโรงเรียนทั่วประเทศ ทั้งที่เป็นโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) รวมทั้งสิ้น 9,179 แห่ง ในจำนวนนี้พบว่ามีจานดาวเทียมอยู่แล้ว 4,007 แห่ง ที่เหลือไม่มีจานดาวเทียม จึงได้ข้อสรุปที่จะแบ่งเป็นการดำเนินการเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรกเริ่มในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษานี้ในเดือนพฤศจิกายน ระยะที่ 2 เริ่มเดือนพฤษภาคมปี 2553 หรือภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษาหน้า โดยระยะแรกจะเริ่มทันที 4,007 แห่ง ที่เหลือเริ่มระยะที่ 2 และในจำนวนโรงเรียนทั้งหมดยังรวมไปถึงโรงเรียนเอกชน 115 แห่ง โดยจะเริ่มในภาคเรียนที่ 2 ของปีนี้ 43 แห่ง ที่เหลืออีก 72 เริ่มปีการศึกษาหน้า
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ได้มีการหารือร่วมกับผู้แทนร.ร.วังไกลกังวลแล้วในวันศุกร์ที่ผ่านมา จากนี้ไปจะเริ่มต้นเตรียมการเพื่อที่จะให้ทุกอย่างเป็นไปตามเป้าหายโดยมอบให้ นายชินภัทร ภูมิรัตน ปลัด ศธ.เป็นประธานคณะทำงาน โดยมีผู้แทน สพฐ. สช. และผู้แทนจาก ร.ร.วังไกลกังวล เป็นคณะทำงาน โดยงานที่จะเริ่มทำคือการจัดทำคู่มือการสอน จัดอบรมครูโรงเรียนปลายทาง เพื่อที่จะเตรียมการและเริ่มดำเนินการได้ตามกำหนดเวลาอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งดูในรายละเอียดการจัดเวลา ปรับตารางเรียน และเตรียมการผลิตสื่อ ที่จะเข้าไปช่วยเสริม นอกเหนือจากตารางเรียนที่ต้องสอดคล้องกับ ร.ร.วังไกลกังวล ที่เป็นวิชาเป้าหมาย
“การผลิตสื่อเสริมจะต้องถือหลักว่าไม่ซ้ำกับที่ ร.ร.วังไกลกังวลผลิตอยู่แล้ว และสื่อที่ผลิตจะต้องสามารถออกอากาศผ่านระบบของ ร.ร.วังไกลกังวลได้ในช่วงนอกเวลาเรียนปกติ หรือหลัง 15.00 น. เพื่อเป็นการเสริมความรู้ ยกระดับคุณภาพนักเรียนเป้าหมาย โดยสื่อทั้งหมดนี้จะมุ่งเน้นแก่นักเรียนชั้น ป.3, ป.6 และ ม.3, ม.6 เป็นกรณีพิเศษ” รมว.ศธ.กล่าว