กทม.กำหนดมาตรการจัดเก็บภาษีป้าย โรงเรือน ที่ดินใหม่ เตรียมเก็บภาษีป้ายผ้าติดตามชายคาบ้าน ร้านเซเว่น สนามกอล์ฟในหน่วยงานราชการ เล็งเก็บภาษีป้ายรัฐวิสาหกิจที่แปลงกายเป็นเอกชน ขณะที่ป้ายเงินด่วนตามเสาไฟ-ต้นไม้เตรียมใช้มาตรการกฎหมายจัดการ
นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพในการเร่งรัดและการจัดเก็บรายได้ ว่า ที่ประชุมได้กำหนดมาตรการภาษีป้าย โรงเรือน และที่ดินใหม่ดังนี้ กลุ่มที่ 1 ประเภทป้าย ป้ายที่มีการเสียภาษีถูกต้องแล้วไม่มีปัญหาแต่ป้ายที่มีการเปลี่ยนหน้าป้ายใหม่ก็จะต้องถูกประเมินใหม่ซึ่งจะเริ่มจัดเก็บในปีงบประมาณหน้าโดยระหว่างนี้จะมีการประชาสัมพันธ์แจ้งให้ประชาชนได้รับทราบเป็นเวลา 2 เดือนส่วนที่มีการโฆษณาบนตัวรถสาธารณะต่างๆ อาทิ รถไฟฟ้า รถประจำทาง รถบรรทุก ซึ่งกรมการขนส่งทางบกได้จัดเก็บภาษีส่งให้กับฝ่ายรายได้ เขตจตุจักรบางส่วนแล้วนั้นทางกทม.จะประชาสัมพันธ์ให้ทราบว่าจะต้องมีการชำระภาษีป้ายโฆษณาบนตัวรถด้วยซึ่งในปีงบประมาณนี้จัดเก็บได้เพียง 49 ล้านบาท
ป้ายที่ติดตั้งบนที่ดินของเอกชน หรือชายคาบ้านจำพวกป้ายผ้าก็จะต้องเสียภาษีด้วยเช่นกัน แต่ปัจจุบันนี้ยังไม่มีการชำระภาษีในส่วนนี้ ซึ่ง กทม.จะจัดเจ้าหน้าที่เข้าไปประเมินเพื่อเรียกเก็บภาษีต่อไป
ส่วนป้ายที่ติดบนที่สาธารณะ เช่น เสาไฟฟ้า ต้นไม้ที่นิยมติดโฆษณาเงินด่วน เงินกู้ซึ่งป้ายเหล่านี้เป็นป้ายที่ผิดกฎหมายดังนั้นกทม.จะเข้าไปกวาดเก็บก่อน แต่หากยังดื้อดึงนำมาติดให้เลอะเทอะอีกกทม.จะโทรไปตามหมายเลขโทรศัพท์ที่ติดประกาศไว้ในใบปลิว แต่หากยังไม่เชื่อฟังก็จะส่งฟ้องดำเนินคดีตามกฎหมาย
ประเภทที่ 2 การจัดเก็บภาษีที่ดินและทรัพย์สิน (ฐานภาษีใหม่) ตามที่รัฐบาลได้มีมาตรการจะจัดเก็บนั้น ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้เวลา 2-3 ปีจึงจะมีผลบังคับใช้ ซึ่งระหว่างนี้ กทม.จะเตรียมความพร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ ระบบปฏิบัติการ รวมถึงศึกษาข้อมูลรายละเอียดอย่างจริงจัง ตลอดจนจะหามาตรการผ่อนหนักเป็นเบาให้ประชาชนให้มากที่สุด
ประเภทที่ 3 สำหรับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ได้มีการเปลี่ยนมาเป็นเอกชนอย่างเต็มตัว อาทิ ปตท.TOT ซึ่งได้มีการติดตั้งป้ายโฆษณาในพื้นที่สาธารณะของกทม.นั้น ที่ประชุมได้มอบให้กองรายได้ สำนักการคลังไปศึกษาแนวทางข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่างๆว่ารัฐวิสาหกิจที่เปลี่ยนไปเป็นเอกชนอย่างเต็มตัวแล้วนั้นจะต้องมีการจัดเก็บภาษี หรือค่าธรรมเนียมเหล่านี้ให้กับกทม.หรือไม่ เนื่องจากเห็นว่าการใช้พื้นที่สาธารณะต้องมีภาระเสียภาษีเหมือนกับประชาชนทั่วไป
นอกจากนี้ ในส่วนราชการต่างๆ ที่มีสนามกอล์ฟ, 7-Eleven ซึ่งปัจจุบันในส่วนนี้ไม่มีการยอมชำระภาษีโรงเรือนมาให้กับกทม.ดังนั้น จะประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขอให้เอกชนที่เช่าพื้นที่ของหน่วยราชการนั้นเสียภาษีให้กับ กทม.
นายธีระชน กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ หาก กทม.จัดเก็บภาษีได้ตามาตรการใหม่ก็จะทำให้รายได้เพิ่มขึ้นเป็นหลักร้อยล้านซึ่งถือเป็นผลพลอยได้ แต่สิ่งสำคัญที่ได้จากส่วนนี้ คือ บ้านเมืองมีความสะอาดมากขึ้นไม่ต้องมีป้ายเลอะเทอะติดตามเสาไฟฟ้า ต้นไม้ อย่างไรก็ตาม ในปีงบประมาณนี้สามารถจัดเก็บภาษีป้ายได้แล้วประมาณ 600 ล้านบาทยังพบว่ามีข้อจำกัดหลายอย่างในการจัดเก็บภาษีป้าย เช่น รถเอกชนจำนวนที่นั่ง 7-12 ที่นั่งไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งกทม.อาจจะเสนอไปยังกระทรวงมหาดไทยเพื่อขอแก้กฎกระทรวงต่อไป