จวก ม.ราชภัฏ ลืมหน้าที่ผลิตครู ทำผลประเมินรอบสองไม่ถึงดีมาก เพราะมุ่งทำเหมือนสถาบันอุดมศึกษาทั่วไปมากขึ้นจนลืมหน้าที่หลักว่ามาจากวิทยาลัยครู ชี้ ต้องออกมายอมรับความจริง
จากผลการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสองของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ของคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ 57 สถาบัน ซึ่งพบว่ามีเพียงคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม แห่งเดียวเท่านั้น ที่มีผลการประเมินระดับดีมาก โดยคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ส่วนใหญ่อยู่ในระดับพอใช้
รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต (มสด.) กล่าวว่า ผลการประเมินที่ออกมานั้น เป็นการตบหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏ 40 แห่ง เป็นอย่างยิ่ง เพราะมหาวิทยาลัยเหล่านี้เติบโตมาจากสถาบันฝึกหัดครู ซึ่งมีหน้าที่ผลิตครูโดยเฉพาะ ถือเป็นสถาบันผลิตครูมืออาชีพ แม้ผลประเมินจะบอกว่า คณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏจะมีทั้งที่อยู่ในระดับดี พอใช้ และต้องปรับปรุง แต่หากพิจารณาด้านความเป็นเลิศของการทำหน้าที่ผลิตครูแล้วนับว่ามีปัญหามาก ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากมหาวิทยาลัยราชภัฏมุ่งทำหน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษาให้ครบทุกด้าน และคิดว่า การผลิตครูนั้นทำมานานแล้ว อีกทั้งมีการเปิดสอนสาขาใหม่ๆ ที่เป็นที่ต้องการของสังคมมากขึ้น ทำให้การให้ความสำคัญกับคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ น้อยลง และทำให้ทรัพยากรที่จะมาใช้ในการสอนนักศึกษาครูน้อยลงด้วยเพราะต้องนำไปใช้กับคณะ/สาขาอื่นๆ ด้วย
“เป็นเพราะมหาวิทยาลัยราชภัฏเหลิงกับการเป็นวิทยาลัยครูมาก่อน ทำให้มีความคิดว่าไม่มีใครทำได้ดีกว่าเรา ซึ่งเป็นความคิดที่อันตรายมากเพราะทำให้ไม่เกิดการพัฒนา ซึ่งระยะหลังการส่งอาจารย์ที่จบในสายครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ไปศึกษาต่อระดับที่สูงขึ้น ก็มักจะเป็นการศึกษาต่อในสาขาอื่นไม่ใช่การต่อยอดในสาขาเดิม ยิ่งทำให้ผู้ที่มีสามารถในด้านดังกล่าวลดน้อยลง ดังนั้น ถึงเวลาที่มหาวิทยาลัยราชภัฏจะต้องออกมายอมรับความจริงว่า สถาบันแห่งไหนไม่มีคุณภาพและจะต้องแก้ไขปรับปรุงอย่างไร จุดอ่อนอยู่ที่ไหน ไม่ใช่คิดแต่แก้ตัว เพราะแม้ว่าการผลิตครูจะลดน้อยลง แต่ก็ต้องให้ความสำคัญ นอกจากนี้ การแก้ปัญหาคุณภาพครูของประเทศไทยก็มักจะใช้วิธีการตั้งสถาบันใหม่ๆ มาทำหน้าที่แทน ทั้งที่ควรสนับสนุนให้สถาบันที่เคยทำหน้าที่อยู่เดิม สามารถบริหารจัดการ พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น”รศ.ดร.สุขุม กล่าว
ที่ปรึกษาอธิการบดี มสด.กล่าวต่อไปว่า สำหรับการที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีผลประเมินไม่ถึงระดับดีมากนั้น ทางจุฬาฯ ให้เหตุผลว่าไปเสียคะแนนที่บัณฑิตที่จบออกมาได้งานทำไม่ตรงสาขา นั่นเป็นเพราะบัณฑิตเขามีทางเลือกมากกว่า เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานมากกว่า แต่สำหรับบัณฑิตมหาวิทยาลัยราชภัฏแล้วไม่ได้มีทางเลือกเหมือนจุฬาฯ เมื่อเรียนจบแล้วก็ต้องไปเป็นครู