มติบอร์ด ช.พ.ค.สั่งชะลอ โครงการ ช.พ.ค.5 ผู้ยื่นกู้สามารถยื่นได้ถึง 14 ส.ค.นี้ พร้อมตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ประเมินผลโครงการทั้งระบบ ก่อนสรุปทำต่อหรือยุติโครงการ เผย สมาชิกได้รับอนุมัติกู้ไปแล้วกว่า 3 หมื่นราย สวนข้อเสนอหากไม่บังคับทำประกัน ช.พ.ค.อาจล่มสลาย เพราะลูกหนี้ชิ่ง ส่วนเงื่อนไขใหม่กู้ 5 แสน ใช้คนค้ำประกัน 3 คนนั้นตอนนี้ยังไม่มี เพราะหาคนค้ำไม่ได้
วันนี้ (3 ส.ค.) นายผดุง สุริยะ กรรมการสำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการ ช.พ.ค.ในวันนี้ที่ประชุมได้มีการหารือถึงประเด็นที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.(โครงการ 5)โดยเฉพาะเรื่องการทำประกันชีวิต การหักเงินสะสมเข้ากองทุน และเงินค่าบริหารความเสี่ยง 2,000 บาท โดยที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นว่าเพื่อให้โครงการเป็นไปด้วยความเรียบร้อยจึงมีมติให้ชะลอโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.(โครงการ 5) ตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค.2552 เพื่อให้คณะกรรมการ ช.พ.ค.ไปศึกษาวิจัยด้านความต้องการของสมาชิกอีกครั้งหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม จะมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.ทั้งระบบต่อไปด้วย ซึ่งหากได้ผลการประเมินแล้วจะมีการพิจารณาอีกครั้ง ว่า จะทำโครงการ ช.พ.ค.5 ต่อไป หรือจะยุติโครงการไปเลย
นายผดุง กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีสมาชิก ช.พ.ค.ที่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารออมสินแล้ว กว่า 3 หมื่นคน อยู่ระหว่างการพิจารณาของธนาคารออมสินกว่า 8 หมื่นราย และอยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณสมบัติของสำนักงาน สกสค.จังหวัดทั่วประเทศอีกกว่า 8 หมื่นราย ทั้งนี้ทราบว่า ยังมีสมาชิก ช.พ.ค.ที่ต้องการยื่นความจำนงขอกู้อีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้นก่อนที่จะชะลอโครงการ สมาชิกสามารถส่งเอกสารการกู้เงินไปที่สำนักงาน สกสค.จังหวัดได้ถึงวันที่ 14 ส.ค.นี้
“สำหรับประเด็นการทำประกันชีวิตที่มีข้อเสนอว่า ไม่ควรบังคับให้ทำประกันแต่ให้เป็นความสมัครใจนั้น เรื่องนี้มีความเสี่ยงมาก และอาจส่งผลให้ ช.พ.ค.ถึงกับล่มสลายได้ เพราะจากข้อมูลโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.โครงการที่ 1-4 พบว่า มีผู้กู้หนีหายไปเฉยๆ ไม่ส่งเงินคืน ช.พ.ค.ถึง 10% ซึ่ง ช.พ.ค.จะต้องรับผิดชอบหนี้เสียดังกล่าว ดังนั้น หากสมาชิกที่ได้เงินกู้ไปแล้วมีพฤติกรรมเช่นนี้มากขึ้น จะทำให้ ช.พ.ค.ได้รับความเสียหายอย่างมาก ส่วนที่มีเงื่อนไขใหม่ว่าหากไม่ต้องการบังคับทำประกันชีวิตก็สามารถให้กู้ได้ในวงเงินไม่เกิน 5 แสนบาท แต่ต้องมีผู้ค้ำประกัน 3 คนนั้น ปรากฏว่า จนบัดนี้ยังไม่มีใครขอกู้ตามเงื่อนไขนี้เลย เพราะไม่สามารถหาคนค้ำประกันได้ สมาชิกหลายคนที่กู้ตั้งแต่โครงการ ช.พ.ค.4 แล้ววันนี้มาขอกู้ใหม่ เพราะต้องการทำประกันชีวิต เนื่องจากบางคนเป็นโรค ถ้าไปทำประกันชีวิตส่วนตัว บริษัทประกันจะไม่รับ ดังนั้น เมื่อไม่รับการกู้เพิ่มตรงนี้ก็เพื่อเอาประกันซึ่งมีหลายราย” นายผดุง กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า บอร์ด ช.พ.ค.กลัวถูกมองว่าเป็นการเล่นเกมหรือไม่ที่ไปชะลอโครงการ นายผดุง กล่าวว่า จริงๆ คงไม่ใช่อย่างนั้น หากทำตามข้อเสนอที่ได้รับมา ช.พ.ค.ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะมีความเสี่ยงต่อการล่มสลายของ ช.พ.ค.อย่างมาก
นายผดุง กล่าวด้วยว่า ในส่วนประเด็นที่บอกว่าทางธนาคารออมสินจะคืนเงินให้ 1% นั้น วันนี้ที่พบคือข้อมูลจากสื่อที่เอาไปลงทำให้เสียหาย โดยคิดว่าธนาคารตั้งดอกเบี้ยกู้แค่ 4.85% แล้วหาว่าบอร์ด ช.พ.ค.ขอเพิ่มอีก 1% ทั้งๆ ที่ความจริงธนาคารกำหนดมาเองว่าดอกเบี้ย MLR อยู่ที่ 5.85% ขณะเดียวกัน เมื่อผู้กู้กู้ไปแล้ว ถ้าสมาชิกสามารถส่งได้ไม่มีใครเบี้ยวแม้แต่รายเดียวธนาคารจะถือว่า สกสค.โดย ช.พ.ค.บริหารความเสี่ยงได้ดี จึงจะคืนเงินเป็นค่าตอบแทนพิเศษ ค่าบริหารความเสี่ยงให้ 1 บาท ซึ่งความจริงแล้วเงินตรงนี้ยังไม่เกิด เมื่อยังไม่เกิดจะไปบอกว่าลดให้ก็ไม่ได้ ดังนั้น จึงต้องช่วยกันทำงานก่อน ถึงจะมีเงินตอบแทนความดีตรงนี้ออกมา ซึ่งเงินตรงนี้เป็นเพียงการกำหนดดอกเบี้ยของธนาคาร เมื่อคืนมาแล้วเงินก็เข้าสู่ระบบการบริหารของสำนักงาน มีการควบคุม ตรวจสอบ และเงินกลับไปสู่สมาชิก ไม่ว่าจะเป็นกองทุนประกันชีวิตให้ครูภาคใต้ การพัฒนาสมาชิกต่อไป ตรงนี้สังคมมองว่าเราได้เงินมาจากออมสินแต่ความจริงแล้วไม่ใช่