xs
xsm
sm
md
lg

ทปอ.ชี้คณะรับตรงทำลายฝันเด็ก ตจว.วอนกลับใช้แอดมิชชัน-ยันปรับเกณฑ์ไม่ผิด กม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“รองประธาน ทปอ.” ระบุ คณะรับตรงทำลายโอกาส ความฝันเด็กทั้งประเทศ โดยเฉพาะเด็กภูธร หวังกลับลำเข้าสู่ระบบ ชี้ ทปอ.ปรับระบบแอดมิชชัน โดยไม่บอกเด็กทำได้ ไม่ผิดกฎหมาย ท้าใครฟ้องก็ชนะ แต่ต้องแจงได้ ไม่เลือกปฏิบัติ ด้าน “อธิการจุฬาฯ” รับปรับระบบแค่ไหนก็ยังไม่ช่วยลดกวดวิชา
ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะรองประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวในการประชุมวิชาการเรื่อง “ระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา (Admission)” ของ ทปอ.ที่มหาวิทยาลัยบูรพา เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า การรับตรงจะทำให้มหาวิทยาลัยได้เด็กตามที่ต้องการมากที่สุด แต่กลับเป็นการปิดกั้นและทำลายโอกาส ความฝันของเด็กทั้งประเทศ โดยเฉพาะเด็กต่างจังหวัดที่จะไม่มีโอกาสเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยชื่อดัง

ทั้งนี้ ตนเห็นว่า ระบบแอดมิชชันที่ทำอยู่นั้นเหมาะสม และมีเหตุผลรองรับ แต่หวังว่า ในอนาคตมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่หันไปรับตรงจะเปลี่ยนใจมาเข้าสู่ระบบแอดมิชชันกลาง โดยเฉพาะกลุ่มแพทย์ เพราะการรับด้วยระบบกลางจะเป็นการให้โอกาสกับเด็กจริงๆ ไม่ใช่ให้กับเด็กกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

ศ.ดร.สุรพล กล่าวต่อว่า สำหรับคำถามที่ว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงหลักการหรือระบบแอดมิชชัน โดยไม่ประกาศให้นักเรียนทราบล่วงหน้า 3 ปีจะผิดกฎหมายหรือไม่นั้น ตนยืนยันว่า ไม่ผิดกฎหมาย และหน่วยงานที่รับผิดชอบหรือมหาวิทยาลัยสามารถทำได้เลย เพียงแต่จะต้องมีเหตุผลและความจำเป็นในการปรับเปลี่ยน ไม่เลือกปฏิบัติ และสามารถใช้กับทุกคนได้อย่างเสมอภาค

“หาก ทปอ.มีมติ เปลี่ยนแปลงอะไรแล้วใครไม่เห็นด้วยหรือจะฟ้อง ทปอ.ก็พร้อมที่จะชี้แจง และคิดว่าน่าจะชนะ เพราะอำนาจในการตัดสินใจรับนิสิตนักศึกษาเข้าเรียนเป็นของมหาวิทยาลัยโดยตรง และสิ่งที่มหาวิทยาลัยทำก็เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม นอกจากนี้ ที่มีการอ้างว่าการเปลี่ยนแปลงระบบแอดมิชชันโดยไม่มีการประกาศล่วงหน้า 3 ปี เป็นการละเมิดเสรีภาพทางการศึกษานั้น จริงๆ แล้วเสรีภาพทางการศึกษาคือการเปิดโอกาสให้เด็กได้เลือกเรียนในสิ่งที่ตนเองต้องการและอยากที่จะเรียน ไม่ใช่ว่านักเรียนอยากจะเรียนในมหาวิทยาลัยไหน แล้วมหาวิทยาลัยนั้นจะต้องรับเด็กเข้าเรียนทุกคน ไม่เช่นนั้นใครอยากจะทำงานอะไรกระทรวงแรงงานก็จะต้องจัดให้ได้ทั้งหมดเช่นกัน” ศ.ดร.สุรพล กล่าว

**ปรับระบบอย่างไรก็ลดกวดวิชาไม่ได้
ด้าน ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธาน ทปอ.กล่าวว่า ถึงแม้จะมีการปรับระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษามาตลอด ก็ต้องยอมรับว่า ไม่สามารถที่จะลดการกวดวิชาได้ เด็กไม่สนใจการเรียนในห้องเรียน และครอบครัวก็ยังเครียดกันเหมือนเดิม ทั้งนี้ แสดงว่าการพัฒนาระบบการคัดเลือกยังไม่พบระบบที่ดีที่สุด ดังนั้น จึงจำเป็นต้องพัฒนาไปเรื่อย ๆ ซึ่งการปรับระบบการสอบคัดเลือกจำเป็นต้องพิจารณาให้รอบด้าน มีหลักฐานเชิงประจักษ์ มีผลงานวิจัยรองรับ ไม่ใช่ปรับตามความรู้สึก อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะปรับระบบคัดเลือกวิธีไหนก็ขอให้ยึดหลัก 4 ป.คือ ประสิทธิภาพ โปร่งใส ประหยัด และปรัชญาการศึกษา
กำลังโหลดความคิดเห็น