xs
xsm
sm
md
lg

ทปอ.ถกเคาะเกณฑ์แอดมิชชัน 54 พรุ่งนี้สรุปชัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทปอ.เปิดเวทีถกเงื่อนไข สัดส่วน ค่าน้ำหนัก แอดมิชชันปี 54 หลังคณะศิลปกรรมฯ ขอเพิ่ม PAT ในรายละเอียดถึง 12 PAT ครุ-ศึกษาฯ ขอเพิ่ม PAT 5 วัดความถนัดความเป็นครูเพิ่มเป็น PAT 5.1-5.9 รัฐศาสตร์ขอ PAT สังคม/ภาษาอังกฤษ นิเทศ-พละ-นิติฯ ขอเพิ่ม PAT โดยเฉพาะ ก่อนได้ข้อสรุปพรุ่งนี้

วันนี้ (31 ก.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. ที่มหาวิทยาลัยบูรพา จ.ชลบุรี ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) จัดประชุมเรื่อง “ระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา” (Admission) โดยมีนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานประธาน ทปอ. นายมณฑล สงวนเสริมศรี ประธานคณะทำงานแอดมิชชั่นฟอรั่ม ศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) และตัวแทนจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้าร่วมประมาณ 300 คน

โดย นายชัยวุฒิกล่าวในการบรรยายพิเศษเรื่อง “ระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา” ตอนหนึ่งว่า การสอบคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาด้วยระบบแอดมิชชัน ถือว่าจุดแข็งอยู่ที่ทุกคนสามารถมั่นใจได้ว่าฝากไม่ได้ และที่ผ่านมานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีได้บอกมาโดยตลอดว่าไม่อยากให้การสอบแอดมิชชันเป็นคอขวด สำหรับการศึกษา อยากให้มีการเปิดกว้างสำหรับเด็กไทยให้ได้มากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาก็มีเสียงวิพากย์วิจารณ์เรื่องของระบบแอดมิชชันเข้ามาตลอด ซึ่งต้องยอมรับว่าการที่จะสามารถรองรับนักเรียนที่จะเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในแต่ละปีที่มีหลายแสนคนนั้น คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำได้อย่างที่ตั้งใจของทุกฝ่าย และเชื่อเช่นกันว่าคงไม่มีระบบใดที่จะทำได้ตามความพอใจของทุกกลุ่ม ดังนั้นระบบจึงต้องมีกาสรปรับปรุงอย่างสม่ำเสมอ แต่ในบางเรื่องหากจะมีการปรับเปลี่ยนก็ต้องอาศัยเวลา ที่สำคัญที่สุดจะทำอย่างไรให้ระบบแอดมิชชันไม่เป็นกับดักที่หลายคนไม่อยากให้เกิดขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงบ่ายได้มีการจัดประชุมกลุ่มย่อยเพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับองค์ประกอบ สัดส่วน และค่าน้ำหนัก โดยแบ่งออกเป็น 9 กลุ่มสาขา ได้แก่ กลุ่มศิลปกรรมศาสตร์ กลุ่มมนุษยศาสตร์และสังคม กลุ่มสถาปัตยกรรมศาสตร์ กลุ่มครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ กลุ่มวิทยาศาสตร์กายภาพและชีวภาพ กลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ กลุ่มเกษตรศาสตร์ กลุ่มวิศวกรรมศาสตร์ กลุ่มบริหารพาณิชยศาสตร์และการบัญชี

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากลุ่มสาขาวิชาต่างๆ ได้เสนอค่าน้ำหนักและองค์ประกอบที่ต้องการใช้ในการแอดมิชชั่นปี 2554 และ2555 ซึ่งถือเป็นการปรับเปลี่ยนในรายละเอียดก่อนจะมีการปรับระบบแอดมิชชันใหญ่ในปี 2556 ซึ่งต้องประกาศล่วงหน้า 3 ปี ทั้งสิ้น จำนวน 31 สาขาวิชา ทั้งนี้สาขาที่มีการขอเพิ่มการสอบความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการหรือ PAT มากที่สุด คือ กลุ่มศิลปกรรม หรือ PAT6 ที่เสนอให้สอบความถนัดเพิ่มถึง 12 ด้าน ดังนี้ ทฤษฎีความรู้ทั่วไปทางศิลปะ ศิลปะการแสดง นาฏศิลป์ไทย นาฏศิลป์ไทยสากล ดนตรีไทย ดนตรีสากล ออกแบบทัศนศิลป์ ออกแบบภายใน ออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ ออกแบบ 3 มิติ วาดเส้น และองค์ประกอบศิลป์สร้างสรรค์

ขณะที่ กลุ่มสาขาด้านนิติศาสตร์ ขอเพิ่ม PAT การวัดความถนัดด้านนิติศาสตร์ กลุ่มวิทยาศาสตร์กายภาพและชีวภาพ เสนอให้เพิ่ม PAT ด้านพลศึกษา คณะรัฐศาสตร์ขอเพิ่ม PAT สังคม และภาษาอังกฤษ นอกจากนี้กลุ่มครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ เห็นว่า การสอบ PAT 5 ความถนัดความเป็นครู ถือเป็นการวัดศักยภาพพื้นฐานของคนที่จะเป็นครูซึ่งทุกคนต้องสอบ และควรเพิ่มตามวิชาเอก เช่น ศิลปะ ดนตรี วิทยาศาสตร์ ซึ่งอาจเพิ่มเป็น PAT 5.1-5.9 กลุ่มสถาปัตยกรรมศาสตร์ ขอเพิ่ม PAT2 ความถนัดทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะความถนัดทางชีววิทยาด้านสภาพแวดล้อม ซึ่งในการประชุมครั้งนี้แต่ละสาขาจะหาข้อสรุปร่วมกันว่าจะเพิ่ม PAT ใดบ้าง และจะใช้ในสัดส่วนเท่าใด ทั้งนี้จากการเสนอเพิ่ม PAT ของกลุ่มสาขาต่าง ๆ นั้น มีข้อทวงติงจากนายชัยวุฒิ ว่าจำนวนPAT ที่ขอเพิ่มนั้นมากเกินไปและขอให้แต่ละสาขาทบทวนเฉพาะความถัดที่จำเป็นจริงๆ เพื่อไม่ให้เด็กต้องสอบเยอะ และลดปัญหาในการจัดสอบ

นายชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งปีนี้หันมารับตรง 100% กล่าวว่า ความถนัดด้านศิลปกรรมที่เพิ่มขึ้นเป็นความเห็นโดยรวมของสภาคณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ โดยมีความเห็นร่วมกันว่าการคัดเลือกเด็กเข้าเรียนในสาขาด้านศิลปกรรมศาสตร์มีความจำเป็นต้องวัดความถนัดในรายวิชาต่างๆ ด้วย เพราะหากเด็กสามารถสอบเข้าเรียนในคณะศิลปกรรมศาสตร์ได้ แต่เมื่อเรียนต่อไปสุดท้ายเด็กก็จะโดนรีไทน์อยู่ดี ทำให้เป็นความสูญเสีย ส่วนสาเหตุที่ศิลปะศาสตร์จำเป็นต้องขอให้สอบความถนัดเพิ่มจำนวนมากนั้น เนื่องจากที่ผ่านมาไม่มีการสอบวัดความถนัดผู้ที่เข้ามาเรียนสายศิลปกรรม ทำให้หลายสาขาต้องเปิดรับตรงด้วยตนเอง เช่น ศิลปะการแสดง นาฏศิลป์ไทย นาฏศิลป์ไทยสากล วาดรูป ฯลฯ ขณะที่ปัจจุบันมีการจัดสอบวัดความถนัดเพียง 2 สาขาคือ ทางด้านดนตรี และทัศนศิลป์เท่านั้นซึ่งไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถคัดเลือกเด็กที่มีความสามารถได้ตามความต้องการ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าจำนวนการสอบความถนัดที่ขอเพิ่มถึง 12 ด้านนั้นมากเกินไป

“ทั้งนี้ จึงมีแนวคิดที่อาจมีการเสนอให้ตั้งสถาบันด้านศิลปะศาสตร์ขึ้นเพื่อจัดสอบความถนัดเฉพาะของกลุ่มศิลปะศาสตร์ และใช้ผลสอบทั่วไปของการสอบกลาง ซึ่งหากจะมีการตั้งสถาบันศิลปะศาสตร์ขึ้นมาจริงก็จะใช้ในการแอดมิชชันปีการศึกษา2556 เป็นต้นไป” คณบดีคณะศิลปกรรมศาตร์ จุฬาฯ กล่าว

รศ. ธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย คณะบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า นิติศาสตร์เป็นวิชาชีพ ซึ่งโดยหลักต้องมีระบบการคิด เป็นเรื่องของหลักการใช้เหตุผลต้องอยู่บนหลักเหตุผล แต่ข้อสอบ GAT จะวัดความมีเหตุผลทางด้านวิทยาศาสตร์เป็นหลัก ขณะที่นิติศาสตร์ต้องการความมีเหตุผลอีกรูปแบบหนึ่ง ดังนั้นที่ประชุมสภาคณบดีนิติศาสตร์ มีความเห็นตรงกันว่าน่าจะต้องเพิ่มการสอบความถนัดทางด้านนิติศาสตร์ด้วย และหากเพิ่มตามที่เสนอจริงก็จะใช้ในการสอบแอดมิชชันปี 56

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมกลุ่มย่อยดังกล่าวนั้นจะได้ข้อสรุปร่วมกันในวันพรุ่งนี้ (1 ส.ค.)
กำลังโหลดความคิดเห็น