รายงานโดย...สุกัญญา แสงงาม
เชื่อว่า หากมีการไล่รายชื่อโรงเรียนในดวงใจของพ่อแม่ ผู้ปกครองที่ต้องการให้ลูกหลานเรียนแล้วล่ะก็ “โรงเรียนเซนต์คาเบรียล” น่าจะเป็นหนึ่งในโรงเรียนที่อยู่ในลำดับต้นๆ
“ดร.วรสิทธิ์ รัตนสิทธิโรจน์” หัวหน้าฝ่ายบุคลากร โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ให้ข้อมูลว่า สาเหตุที่เซนต์คาเบรียล ได้รับการยอมรับเกิดจากการสั่งสมชื่อเสียงมายาวนาน กว่า 90 ปี ขณะเดียวกัน ก็มีการปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้มีความทันสมัยและสอดรับกับความต้องการของพ่อแม่ ผู้ปกครอง รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของสังคม และที่สำคัญคือ การที่อาจารย์ทุกคนดูแลเอาใส่ลูกศิษย์ทุกคนเสมือนเป็นลูกหลานของตัวเอง
ทั้งนี้ รูปแบบการเรียนการสอน ทางโรงเรียนให้ความสำคัญกับภาษาอังกฤษ โดยจัดหลักสูตรสอนภาษาอังกฤษตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-มัธยมศึกษาปีที่ 6 ยกเว้นวิชาภาษาไทย ดนตรี พลศึกษา ซึ่งหลักสูตรยึดของกระทรวงศึกษาธิการเป็นหลักจากนั้นได้ระดมอาจารย์ช่วยกันแปลเป็นภาษาอังกฤษ และส่งต่อให้อาจารย์ในมหาวิทยาลัยตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้งก่อนนำมาพิมพ์เป็นตำราเรียน และกำหนดให้ปรับเนื้อหาทุกวิชา 3 ปีครั้ง
อย่างไรก็ตาม หากเนื้อหามีการเปลี่ยนแปลงก่อนกำหนด อาจารย์ผู้สอนจะเป็นผู้แทรกข้อมูลใหม่ให้ระหว่างเรียน เช่น ช่วงที่มีการเปลี่ยนรัฐบาล อาจารย์ต้องปรับข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน เป็นต้น ขณะเดียวกัน ก็จะมีการเพิ่มเติมเนื้อหาในทุกๆ รายวิชาเพื่อเพิ่มศักยภาพของนักเรียนให้มากขึ้น
“นักเรียนทุกคนจะสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษได้ครบ ทั้งฟัง พูด อ่านเขียน แต่เราไม่เน้นการออกเสียงต้องเหมือนเจ้าของภาษา สำเนียงอังกฤษสไตล์ไทยก็ไม่เป็นไร เพราะคนญี่ปุ่น คนจีน เขาก็พูดอังกฤษตามแนวของประเทศเขา แต่จะเน้นคำศัพท์ ประโยค ถูกต้องหรือไม่ และสามารถสื่อสารกันเข้าใจเป็นสำคัญ”
ดร.วรสิทธิ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า ในการทดสอบความรู้ความสามารถของเด็ก ทางโรงเรียนจะนำข้อสอบระดับนานาชาติมาร่วมทดสอบด้วย ส่วนการทดสอบด้านภาษาจะเชิญอาจารย์จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) มาทดสอบเป็นรายคน
นอกจากนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่ต่างจากสถานศึกษาแห่งอื่น คือ การจัดระบบอาจารย์ ซึ่งทางโรงเรียนจะจัดอาจารย์ 2-3 คนต่อห้อง โดยพยายามจัดอาจารย์ต่างชาติ 1 คน อาจารย์ไทย 1 คน หรืออาจารย์รุ่นเก่าที่มีประสบการณ์สอนมาหลายสิบปีคู่กับอาจารย์ใหม่ ซึ่งขณะที่อาจารย์คนที่ 1 สอน อาจารย์อีกคนหนึ่งจะคอยสังเกตการณ์สอนและดูแลความเรียบร้อยของนักเรียน และถ้าหากนักเรียนสงสัยเนื้อหาตรงไหน อาจารย์ทั้ง 2 คนจะช่วยกันตอบคำถาม
“ที่มาการจัดอาจารย์สอน 2 คนต่อห้อง เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 6 ปีก่อน ที่กระทรวงศึกษาธิการจะมีการปฏิรูปการศึกษา โดยเปิดโอกาสให้โรงเรียนที่มีความพร้อมจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ และ ร.ร.โยธินบูรณะ เป็นแห่งแรกที่เปิดสอน ENGLISH PROGRAM หรือ (EP) จำนวน 2 ห้อง ส่วนที่เหลือสอนภาษาไทย ซึ่งมีลักษณะโรงเรียนเล็กในโรงเรียนใหญ่”
“ทางเซนต์คาเบรียลเองโดยทางท่านอธิการเห็นรูปแบบดังกล่าวก็เกิดความคิดที่จะนำมาประยุกต์ใช้กับโรงเรียนบ้าง และตัดสินใจที่จะทำกับนักเรียนทุกห้องไม่ใช่เฉพาะห้อง EP เท่านั้น”
ดร.วรสิทธิ์ เล่าต่อว่า จากนั้น ภราดา ดร.อนุศักดิ์ นิธิภัทราภรณ์ อธิการได้เตรียมความพร้อมให้อาจารย์อย่างเต็มที่ด้วยการอบรมภาษาอังกฤษหลังเลิกเรียน และส่งอาจารย์ไปอบรมภาษาที่อินเดียเป็นเวลา 5 เดือน เสร็จแล้วเมื่อกลับมาก็จะให้อาจารย์ทดลองสอนหน้าชั้นเพื่อสังเกตความสามารถทางภาษาว่าความคล่องแคล่วมากพอหรือยัง ก่อนให้สอนนักเรียน และเวลาสอนจริงจะให้ประกบคู่กับอาจารย์ต่างชาติ หรืออาจารย์เก่าคู่อาจารย์ใหม่ เพื่อเก็บเกี่ยวเทคนิคการสอนของเขาแล้วมาปรับให้เป็นสไตล์การสอนของตัวเอง
“จนถึงปัจจุบันผู้บริหารยังไม่ได้หยุดพัฒนาอาจารย์ ให้อาจารย์ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไปเข้าคอร์สภาคฤดูร้อนที่แคนาดาช่วงปิดเทอมอยู่เสมอๆ”
สำหรับรูปแบบการสอนนั้น เซนต์คาเบรียลเน้นให้นักเรียนเรียนรู้จากของจริง เพื่อให้นักเรียนเข้าใจเนื้อหาในวิชานั้นอย่างแท้จริง หากนักเรียนไม่เข้าใจ มีข้อสงสัยสามารถยกมือถามในชั้นเรียน หรือถ้าหมดเวลาเรียน นักเรียนก็เดินมาถามอาจารย์ผู้สอนได้ที่ห้องพักอาจารย์
นอกจากนี้ ทางโรงเรียนยังจัดกิจกรรมเติมความรู้ให้ทุกเดือนระหว่างเวลา 07.00-08.30 น. โดยจะระบุว่า เดือนนี้เป็นของเด็กชั้นไหน และสลับสับเปลี่ยนวิชาหมุนเวียนกันไป เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย สังคม ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับการเข้าค่าย ซึ่งแต่ละฐานจะมีอาจารย์และรุ่นพี่คอยอธิบาย พร้อมมีสื่อให้นักเรียนศึกษาด้วยตนเอง ขณะเดียวกันโรงเรียนยังมีทุนนักเรียนไปเข้าค่ายที่แคนาดาปีละ 100 ทุน ติดต่อกันมา 5 ปีแล้ว เพราะการให้เด็กไปอยู่ร่วมกับเด็กหลากหลายชาตินอกจากจะช่วยพัฒนาภาษาแล้ว ยังส่งผลให้เด็กมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านอินเทอร์เน็ตด้วย
ส่วนพ่อแม่ผู้ปกครอง หรือนักเรียนที่อยากรู้รายละเอียดเพิ่มเติมและสนใจจะเข้าเรียนที่เซนต์คาเบรียล ทางโรงเรียนได้จัดให้มี open house ขึ้นในวันที่ 8 ส.ค...งานนี้ พลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง