xs
xsm
sm
md
lg

ญาติเด็กหญิง 4 ขวบ บุก สธ.ขอค่าชดเชย 5.1 ล้านบาท ติดเชื้อเอดส์จาก รพ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ญาติเด็กหญิง 4 ขวบ จ.ยะลา ที่ติดเชื้อเอดส์หลังรับการรักษา บุก สธ.ร้องขอความเป็นธรรม ขอค่าชดเชยเพิ่ม 5.1 ล้านบาท ชี้ชดเชยแค่ 4 แสนไม่เหมาะสม ลั่นโยนให้เป็นความผิดพลาดช่องโหว่เทคโนโลยีการตรวจเชื้อทั้งที่สาเหตุยังไม่ชัด เท่ากับ สธ.ต้องการลดความรับผิดชอบ

วันที่ 29 กรกฎาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข นายนพ(นามสมมติ) อายุ 36 ปี น้าชายของ ด.ญ.ปราง (นามสมมติ) อายุ 4 ปี ที่ติดเชื้อเอชไอวีจากความผิดพลาดในการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลศูนย์ จ.ยะลา ได้เดินทางมายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อนายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยมีนายสุรเชษฐ์ แวอาแซ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รับหนังสือแทนโดยนายสุรเชษฐ์กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า จะเร่งดำเนินโดยเร็ว โดยให้ศูนย์สันติวิธี สธ. รับหน้าที่เจรจาไกล่เกลี่ยกรณีนี้

นายนพกล่าวว่า ได้หารือร่วมกับครอบครัวของ ด.ญ.ปราง โดยได้รับมอบหมายให้เป็นผู้เจรจาเรื่องการชดเชยค่าเสียหาย ซึ่งทางโรงพยาบาลศูนย์ จ.ยะลา ยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น โดยทางโรงพยาบาลยอมจ่ายค่าเสียหายตามมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เป็นเงิน 200,000 บาท และจากกองทุนเยียวยาของ สธ.อีก 200,000 บาท รวมเป็นเงิน 400,000 บาท และโรงพยาบาลศูนย์ จ.ยะลา รับรักษา ด.ญ.ปรางฟรีอีกตลอดชีวิต ซึ่งถือว่ายังไม่เหมาะสมกับความสูญเสียที่เกิดขึ้นทั้งจากอดีต และความเจ็บป่วยในอนาคตอีก ทางครองครัวจึงได้เรียกร้องขอเพิ่มเงินชดเชยเป็นเงิน 5.1 ล้านบาท

“เราไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้หลายๆ ครั้ง จึงจำเป็นต้องเรียกค่าเสียหายเป็นมูลค่าสูงพอสมควร แต่เมื่อเทียบกับคดีอื่นๆ ของ สธ.ก็มีการเรียกค่าเสียหายใกล้เคียงกันหรือบางกรณีเรียกสูงถึง 10 ล้าน ซึ่งนายสุรเชษฐ์ ได้รับปากว่าจะเร่งดำเนินการให้ แต่หาก สธ.ไม่ดำเนินการอะไร ก็ต้องพึงกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานของสังคม แม้ว่ากระบวนการฟ้องร้องจะใช้เวลานานหลายปีก็จะรอ” นายนพกล่าว

นายนพดลกล่าวด้วยว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถพิสูจน์ทราบได้ว่าเกิดการผิดพลาดที่จุดใด ดังนั้น จึงไม่ควรโทษว่าเกิดจากช่องโหว่ของเทคโนโลยีที่ตรวจเลือดรับบริจาคผิดพลาดที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเลือดปลอดเชื้อหรือไม่หากได้รับบริจาคเลือดยังไม่ครบ 30 วัน และข้อเท็จจริงแล้วโอกาสที่เกิดความผิดพลาดจากเจ้าหน้าที่ก็เป็นได้ เช่น หยิบเลือดสลับเอาถุงที่ยังไม่มีการตรวจสอบมาใช้ หรือน้ำยาที่ใช้ตรวจสอบเก็บไว้นานทำให้ไม่มีประสิทธิภาพหรือเสื่อม หมดอายุ ซึ่งการโยนความผิดพลาดไปที่การตรวจสอบว่าเลือดปลอดเชื้อหรือไม่เพียงอย่างเดียวเท่ากับ สธ.พยายามลดระดับความรับผิดชอบลงมาด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น