“หมอทวี” ชี้ คนมีโรคประจำตัวควรฉีดวัคซีน แม้พบหญิงแพร่ตายหลังได้วัคซีนหวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยันวัคซีนปลอดภัยสูง สธ.ส่งทีมสอบสวนโรคหาสาเหตุการตายที่แท้จริง เผย นักวิชาการเห็นต่างให้คลินิกจ่ายยา เพราะคิดเห็นได้อิสระ ชี้คลินิกมีสิทธิ์จ่ายยาโอเซลทามิเวียร์ต้องได้ใบรับรองรักษาโรคหวัด 2009 จาก สธ.เผยรอบสัปดาห์คาดเหยื่อหวัด 2009 ตายเพิ่ม 21 ราย ยอดผู้ติดเชื้อสะสมยังไม่ถึงหมื่น
รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิระดับ 11 กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากกรณีที่มีหญิงสูงอายุชาวแพร่ เสียชีวิตหลังจากฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่นั้น ได้รับรายงานว่า หญิงรายดังกล่าวมีโรคประจำตัวหลายโรค และเป็นอัมพาต รวมถึงโรคชัก ซึ่งการมีโรคประจำตัวไม่ใช่ข้อห้ามในการฉีดวัคซีน แต่เป็นข้อแนะนำว่าคนมีโรคประจำตัวควรได้รับวัคซีน เพราะถือเป็นกลุ่มเสี่ยง เพราะหากเป็นโรคไข้หวัดใหญ่แล้วจะเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งในแต่ละปีมีการใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่จำนวน 300-400 ล้านโดส ถือเป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัยสูงมาก ในสหรัฐอเมริกามีการฉีดอย่างทั่วถึง และนำไปฉีดในสถานที่ต่างๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า สนามบิน แสดงให้เห็นถึงความปลอดภัยของวัคซีนที่มีสูงมาก และที่ผ่านมา พบโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากวัคซีนน้อยมาก
“สธ.ได้ส่งทีมสอบสวนโรคไปตรวจสอบแล้วว่าสาเหตุการเสียชีวิตที่แน่ชัดคืออะไร เพราะทราบว่า ผู้ป่วยมีโรคประจำตัวหลายโรคมาก แต่ไม่ได้ทิ้งสาเหตุการตายจากวัคซีน เพราะไม่มีอะไร 100% อาจจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวก็ได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีโรคประจำตัวยังเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับวัคซีนเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากไข้หวัดใหญ่” รศ.นพ.ทวี กล่าว
รศ.นพ.ทวี กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีที่คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการ ยังไม่มีมติให้มีการกระจายยาในระดับคลินิก ไม่ได้หมายความว่า ในเชิงปฏิบัติไม่สามารถทำอะไรได้เลยโดยเฉพาะโครงการที่นำร่องไปแล้ว ก็สามารถดำเนินต่อไปได้ และสามารถมีการเปลี่ยนแปลง หรือขยายโครงการได้ในอนาคต ส่วนความคิดเห็นของนักวิชาการที่มีความแตกต่างกันนั้น ถือว่าเป็นการแสดงความคิดที่อิสระ ซึ่งจะมีการชั่งผลดีผลเสียว่าอะไรมากกว่ากัน อาจไม่ต้องดี 100% แต่มีผลดีมากกว่าผลเสียก็คงต้องดำเนินการ ขณะเดียวกัน ถ้ามีผลเสียมากกว่าก็ต้องเลิกเช่นเดียวกัน ซึ่งคณะอนุกรรมการจะมีการประชุมหารืออีกครั้งในวันที่ 3 ส.ค.นี้
นพ.มล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า แนวทางหลักในการพิจารณาคลินิกที่จะสามารถจ่ายยาโอเซลทามิเวียร์ให้กับผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009ได้นั้น แพทย์ที่ประจำคลินิกจะต้องเข้ารับการอบรมเรื่องแนวทางการรักษาจาก สธ.โดยเฉพาะแพทย์ที่ไม่ได้ปฏิบัติงานในระบบราชการ ที่สำคัญ ผ่านหลังการอบรม แพทย์จะต้องได้รับใบรับรองจาก สธ.ให้เป็นแพทย์ที่สามารถประเมินอาการ วินิจฉัยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และสั่งจ่ายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ได้เท่านั้น และคลินิกแต่ละแห่งจะต้องมียาสำรองได้ไม่เกิน 50 เม็ด
แหล่งข่าวจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในการแถลงข่าวสรุปสถานการณ์ผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 รอบสัปดาห์ของ สธ.ในวันที่ 29 ก.ค. คาดว่า จะมีจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 21 ราย เฉลี่ยวันละ 3 ราย ยอดสะสมรวม 65 ราย ส่วนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มกว่า 2 พันราย ยอดผู้ป่วยสะสมกว่า 8,000 ราย