สพฐ.ระดมกูรูด้านการจัดค่ายสร้างคู่มือการจัดค่ายฤดูร้อนสร้างสรรค์สติปัญญาเด็ก เพื่อการจัดค่ายอย่างมีประสิทธิภาพ เน้นเนื้อหาช่วงเวลาจัดค่าย 5 ช่วง พร้อมเดินหน้าให้ความรู้ สพท.ทั่วประเทศ เสริมสร้างทักษะการจัดค่ายอย่างสร้างสรรค์
คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เห็นความสำคัญในการพัฒนาเด็ก เยาวชน ให้มีทักษะการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการศึกษาของผู้เรียนให้ได้มาตรฐาน และมีพฤติกรรมตามหลักสูตรกำหนดการจัดกิจกรรมเข้าค่ายฤดูร้อนสร้างสรรค์สติปัญญาสำหรับเด็ก ที่จะสามารถพัฒนาเด็กที่เรียนอ่อนให้มีโอกาสในการเสริมสร้างสติปัญญาในด้านต่างๆ ได้มีกิจกรรม และเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงได้แล้ว ยังสร้างสรรค์สติปัญญาให้นักเรียนที่เรียนเก่ง และมีความสามารถด้านต่างๆ ให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
ดังนั้น สพฐ.จึงได้ระดมผู้รู้และผู้มีประสบการณ์ในการจัดค่ายทั้งจากภาครัฐและเอกชนร่วมหาแนวทาง โดยสร้างเป็นคู่มือการจัดค่ายฤดูร้อนสร้างสรรค์สติปัญญาสำหรับเด็ก ที่สามารถนำไปเป็นแนวทางในการจัดค่าย ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีเนื้อหาตามช่วงเวลาของการจัดค่าย 5 ช่วง ประกอบด้วย ช่วงเตรียมค่าย ช่วงเปิดค่าย ระหว่างค่าย ช่วงปิดค่าย และช่วงกิจกรรมหลังค่าย เพื่อเสริมสร้างทักษะการจัดค่ายอย่างสร้างสรรค์ ให้ผู้เข้าอบรมมีความรู้ และมีประสบการณ์ในการจัดค่ายอย่างสร้างสรรค์ และเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ทั้งในการวางแผน ดำเนินการ การเตรียมค่าย กระบวนการจัดค่าย ผลการจัดค่าย และปัญหาอุปสรรคในการจัดค่าย รวมทั้งเพื่อศึกษาแนวทาง การปฏิบัติเป็นเลิศ (Best Practices) ซึ่งจะสามารถนำไปปรับปรุงเป็นแนวทางการจัดค่ายให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น จึงเร่งให้ความรู้แก่ผู้จัดการค่ายทั่วประเทศให้สามารถนำไปปรับใช้ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
“ผู้จัดการค่ายเป็นบุคลากรที่มีบทบาทสำคัญในการบริหารกิจกรรมค่ายให้เป็นไปตามนโยบาย และบรรลุตามวัตถุประสงค์ของการจัดค่ายตลอดกระบวนการ ซึ่งการอบรมดังกล่าวนอกจากจะสามารถนำแนวทางการจัดค่ายสำหรับเด็กไปเติมเต็มกับเนื้อหาสาระและสิ่งที่ต้องการพัฒนาซึ่งมีความแตกต่างกันตามความต้องการของแต่ละเขตพื้นที่การศึกษาแล้ว ที่สำคัญยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศทั้ง 185 แห่ง ในการจัดกิจกรรมสนองความสามารถ ความถนัด และความสนใจของผู้เรียนได้ตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 อีกด้วย” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว