เวทีความเห็นโครงการสวนสำหรับสุนัข Dog Park สวนจตุจักรล่ม! ผู้ใช้บริการค้านเสียงแข็ง อ้างไม่ควรรวมพื้นที่คน-สัตว์เข้าด้วยกัน หวั่นเสียง-กลิ่น-โรค เสนอหาที่ใหม่ห่างไกลชุมชน เรียกร้อง กทม.กลับมาดูแลการให้บริการคนแทน ขอสุขาคนพิการ ผู้สูงอายุในสวนเพิ่้ม ด้าน ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม กทม.ยอมงอ รับพิจารณาหาที่ใหม่
วันนี้ (25 ก.ค.) เมื่อเวลา 08.00 น.ที่สวนจตุจักร สำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานคร และสำนักอนามัย ได้จัดการรับฟังความคิดเห็นประชาชนในการดำเนิน “โครงการจัดสร้างสวนสำหรับสุนัขในพื้นที่สวนจตุจักร (Dog Park)” บนเนื้อที่ 2.7 ไร่ ตรงบริเวณประตูทางเข้าที่ 2 ติดกับพิพิธภัณฑ์รถไฟ ซึ่งมีพื้นที่ใช้สอยกว่า 4,000 ตารางเมตร ที่จะถูกแบ่งเป็นสนามฝึกสุนัข สุขาสำหรับสุนัข ทางเดิน -วิ่ง เครื่องเล่นสำหรับสุนัข และเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนเจ้าของสุนัข พร้อมทั้งชี้แจงระเบียบ ข้อบังคับในการใช้สวนสำหรับสุนัขนั้น
ผู้สื่อข่าวรายงาน ในการประชุมรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวเกิดความชุลมุนขึ้นเล็กน้อย เมื่อประชาชนผู้ใช้บริการสวนจตุจักรกว่า 100 คน ต่างไม่พอใจและไม่เห็นด้วยที่ กทม.จะนำพื้นที่นี้ไปทำสวนสำหรับสุนัข โดย นางสุพรรณา พรหมพยัคฆ์ อายุ 63 ปี ตัวแทนกลุ่มผู้ใช้บริการสวนจตุจักร กล่าวว่า อยากให้ทาง กทม.สร้างสวนสำหรับสุนัขที่แยกออกไปโดยเฉพาะ ไม่มารวมกับพื้นที่ที่ประชาชนใช้บริการ เพราะถึงแม้จะมีมาตรการจัดการที่ดีอย่างไร ก็ไม่สามารถที่จะดูแลในเรื่องของเสียงรบกวน กลิ่น และการแพร่เชื้อโรคได้ พื้นที่ตรงสวนจตุจักรนี้เป็นจุดศูนย์รวมที่มีคนใช้บริการอยู่มากก็ไม่ควรนำส่วนออกกำลังกาย พักผ่อนของทั้งคนและสัตว์มาอยู่รวมกัน กทม.ควรจะแยกสร้างในพื้นที่ที่ไม่ติดกับชุมชน สร้างเป็นสวนสำหรับผู้รักสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะ
“พื้นที่ที่ทาง กทม.จะใช้สร้างนั้นมีเพียงแค่ 4,000 ตารางเมตร เชื่อว่าคงไม่พอ เพราะนอกจากจะมีสิ่งก่อสร้างแล้ว ยังประกอบไปด้วย ลู่วิ่ง เครื่องเล่นสำหรับสุนัขโดยเฉพาะ ทั้งยังมีสนามฝึกสุนัขอีก คงไม่พอแน่ และสุนัขเองก็จะไม่มีที่ให้วิ่งเล่น ซึ่งเมื่อมาใช้บริการมากก็จะเกิดความแออัดตามมาในที่สุด ซึ่งความจริงแล้วโครงการนี้เป็นเรื่องที่ดี ทำเพื่อคนรักสุนัข แต่ควรแยกออกไปไม่รวมกับคน และอยากให้มีการระงับโครงการไปก่อน ให้กลับไปทบทวนเพื่อหาพื้นที่ใหม่ต่อไป” นางสุพรรณากล่าว
นางสุพรรณากล่าวด้วยว่า เข้าใจที่ทาง กทม.เข้ามารับฟังความคิดเห็นจากประชาชน แต่คิดว่าช้าเกินไป เป็นเหมือนการมัดมือชกกัน ซึ่งประชาชนที่มาใช้บริการสวนสาธารณะแห่งนี้เพื่อออกกำลังกายในตอนเช้า เฉพาะบริเวณตรงนี้มีกว่า 5 กลุ่มเป็นจำนวนกว่า 500 คน จึงไม่เห็นด้วยที่จะมาสร้างตรงนี้ สิ่งที่เป็นความต้องการของประชาชนผู้ใช้บริการจริงๆ กทม.กลับไม่เคยลงมาสอบถามว่าต้องการ หรือขาดสิ่งใด ตอนนี้ผู้ใช้บริการทุกคนต่างเรียกร้องห้องสุขา สำหรับคนพิการ ผู้สูงอายุ ต่างหาก
นอกจากนี้ หลักเกณฑ์ที่บอกว่าสุนัขที่จะเข้าใช้สวนได้นั้นต้องมีการฝึกมาเป็นอย่างดี ต้องฝังไมโครชิป ตนคิดว่าสุนัขของประชาชนชั้นกลาง คนธรรมดาทั่วไป คงทำได้ยาก อีกทั้งการจะทำโครงการเพื่อประชาชนต้องให้บริการฟรี แต่ในแบบสอบถามที่ให้แสดงความเห็นในวันนี้กลับมีคำถามในเชิงว่า หากต้องเข้าใช้บริการสวนสำหรับสุนัขนี้ อยากให้มีการเก็บค่าบริการเท่าใด ความจริงแล้วไม่ควรจะมีคำถามในลักษณะนี้อยู่ในแบบสอบถาม
"พวกเรา ประชาชนส่วนใหญ่ก็รักสัตว์ แต่เมื่อคุณเลี้ยงเขาแล้วก็ต้องดูแล ต้องดูก่อนว่าการที่จะเลี้ยงนั้นได้เตรียมการเพื่อเขาดีแค่ไหน มีพื้นที่ให้เขาหรือไม่ คนเลี้ยงสุนัขต้องมีบริเวณบ้าน และการที่จะนำสุนัขเข้ามากในนี้คิดว่าไม่ถูกจุด กทม.ควรจะต้องหาสถานที่ใดที่หนึ่งเป็นศูนย์รวมสำหรับสัตว์ ที่สวนจตุจักรนี้เป็นสถานที่ทีคนใช้บริการมานานแล้ว ที่นี่ควรพัฒนาในด้านการบริการให้ประชาชนมากกว่า" ตัวแทน กลุ่มผู้ใช้บริการสวนจตุจักรกล่าว
ด้าน เรืออากาศโท อิราวัสส์ ปัทมะสุคนธ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวว่า กทม.มีนโยบายในการออกแบบสวนสำหรับคนเลี้ยงสุนัขในเมืองหลวง เพื่อให้นำสุนัขมาออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรม สิ่งที่ออกแบบไปใช้เนื้อที่ไม่มาก ซึ่งก็เห้นตรงกันว่าพื้นที่ที่เหมาะสมในการสร้างคือบริเวณสวนจตุจักร บริเวณประตู 2 ใกล้พิพิธภัณฑ์รถไฟ แต่ทั้งนี้เมื่อเราเป็นส่วนราชการ ผู้ที่ใช้ประโยชน์ในสวนสาธารณะแห่งนี้ก็มีหลากหลายดังนั้นจึงต้องรับฟังความคิดเห็นในส่วนอื่นด้วย ว่าเห็นด้วยหรือไม่ ซึ่งก็เกิดแรงต้านกลับมาว่าไม่เห็นด้วยหากจะสร้างที่นี่ ก็ได้พยายามชี้แจงในส่วนของระเบียบการควบคุม ซึ่งหลักเกณฑ์การใช้บริการก็ได้มีการอธิบาย เช่น เจ้าของสุนัขต้องมีบัตรอนุญาต สุนัขต้องฝังไมโครซิป ห้ามนำสุนัขป่วย หรือเป็นโรค ทางผิวหนังใช้ ต้องมีปลอกคอ สายจูง ห้ามปล่อยสุนัขเป็นอิสระ และต้องมีอุปกรณ์สำหรับเก็บมูลสุนัขด้วยทุกครั้ง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่ยอม เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ต้องรับฟัง และพยายามปรับเปลี่ยนหาที่ใหม่เสนอผู้บริหารต่อไป
“ตรงนี้คงทำไม่ได้ อาจต้องหาที่ใหม่ ซึ่งยอมรับว่าพื้นที่ใน กทม.มีค่อนข้างจำกัด ต้องหาที่ที่เป็นไปได้ ซึ่งก็ต้องพยายามสร้างความเข้าใจกับประชาชนต่อไป เพราะโครงการนี้มีเสียงเรียกร้องเข้ามามากในส่วนของคนเลี้ยงสุนัข และทางท่านผู้ว่าฯ กทม.ก็เห็นด้วยในการจัดหาพื้นที่จัดทำโครงการดังกล่าวสนองความต้องการของประชาชน แต่ถึงอย่างไรโครงการนี้ก็ยืนยันว่าจะมีการดำเนินการแน่นอนแต่ต้องมีการพูดคุยกันในส่วนของพื้นที่ที่เหมาะสม พร้อมทั้งรับฟังเสียงประชาชนก่อนเสนอต่อผู้ว่าฯ กทม.ต่อไป” ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม กทม.กล่าว