xs
xsm
sm
md
lg

“สาทิตย์” เล็งปรับผัง อสมท-วิทยุกรมประชาฯ เพิ่มช่วงเด็ก-เยาวชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“สาทิตย์” เล็งปรับผัง อสมท-วิทยุกรมประชาฯ เพิ่มช่วงเด็ก-เยาวชน เผย 16 ปีแห่งความหลัง ปัญหาสื่อเด็กไม่เคยเปลี่ยน คนทำแฉเองต้องยอมโฆษณาชวนเชื่อ เพื่อความอยู่รอด ลั่น พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ คลอดแน่ ต้นปี 53 ผุด “กองทุนสื่อสร้างสรรค์” ใช้เงินจากค่าออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ มาสนับสนุนรายการเด็ก สื่อธุรกิจต้องจ่ายแพงกว่าสื่อสาธารณะ

วันที่ 24 กรกฎาคม ที่โรงแรมเอเชีย ราชเทวี มีเสวนา “ผ่าทางตัน สู่ฝัน...โทรทัศน์สำหรับเด็ก?” โดยโครงการเพื่อเด็กไทย ใส่ใจสื่อ โดยการสนับสนุนของแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้การผลักดัน พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ กำลังเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภายใต้ พ.ร.บ.ดังกล่าว จะมีมาตรา 46 ที่ว่าด้วยกองทุนสื่อสร้างสรรค์ ซึ่งกำหนดให้มีรายได้มาจากการออกใบอนุญาตประกอบกิจการสื่อ 2 ส่วน คือ 1.ใบอนุญาตขอใช้คลื่นความถี่ 2.ใบอนุญาตประกอบกิจการวิทยุโทรทัศน์ ที่ต้องขออนุญาตทุกปี ทั้งนี้ จะแยกประเภทของสื่อ เพื่อจัดเก็บในอัตราที่เหมาะสม เช่น สื่อธุรกิจต้องเสียค่าใบอนุญาตแพงกว่าสื่อเพื่อสาธารณะ เชื่อว่า พ.ร.บ.นี้ จะแล้วเสร็จต้นปี 2553 และคงไม่มีแรงคัดค้านในสภาเพราะเป็นวาระสำคัญเพื่อเด็ก
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
“กองทุนเพื่อสนับสนุนสื่อเพื่อเด็ก จำเป็นต้องมีการจัดสรรรายการใหม่ โดยเฉพาะสื่อของรัฐ รวมถึงสื่อประเภทรัฐวิสาหกิจอย่าง อสมท และสื่อในกำกับของวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ ที่จะต้องปรับบทบาทเพื่อให้เป็นสื่อสร้างสรรค์ และทำเพื่อส่งเสริมสังคมมากขึ้น โดยจะเร่งเข้าไปปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นสื่อหลักที่ให้ความคิดและปัญญาแก่สังคม” นายสาทิตย์ กล่าว

ผศ.ลักษมี คงลาภ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า การศึกษา “สถานการณ์รายการโทรทัศน์สำหรับเด็กในไทย” โดยวิจัยเชิงคุณภาพ และสัมภาษณ์แบบเจาะลึก ผู้บริหาร และตัวแทนผู้ผลิตรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก 27 บริษัท พบว่า รายการเด็กมีพัฒนาการทั้งเนื้อหา รูปแบบการผลิต เทคโนโลยีในการผลิต แต่ปัญหาที่ยังคงเหมือนเดิม คือ 1.ด้านเศรษฐกิจขาดผู้สนับสนุนรายการ 2.นโยบายรัฐบาล ที่ไม่ส่งเสริมอย่างเป็นรูปธรรม 3.สถานีโทรทัศน์ ไม่จัดช่วงออกอากาศที่เหมาะสม 4.ผู้สนับสนุนรายการหรือสปอนเซอร์ ใช้เรตติ้งมากำหนดการสนับสนุนรายการ ทำให้ผู้ผลิตรายใหม่หรือรายเล็กไม่สามารถเกิดขึ้นได้ 5.ปัญหาการผลิต ซึ่งปัญหาเหล่านี้ไม่ต่างจาก 16 ปี ที่ผ่านมาที่เคยศึกษาเมื่อปี 2536 ที่ขาดผู้สนับสนุนจริงจัง และมีการแทรกแซงเนื้อหาเพื่อให้เกิดการโฆษณา ประชาสัมพันธ์สินค้า

นางสาวเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) กล่าวว่า หากรัฐบาลสนับสนุนจริงจัง โดยเฉพาะการตั้งกองทุนสื่อสร้างสรรค์ จะฝ่าทางตันให้กับรายการเด็ก ทำให้ไม่ต้องพึ่งพากลไกการตลาด ที่ไม่ได้ส่งเสริมความต้องการของเด็กอย่างแท้จริง ซึ่งการลงทุนด้านสื่อในต่างประเทศมีการใช้งบประมาณจำนวนมาก เพราะถือเป็นการสร้างบุคลากรของชาติ

น.ส.อุมาพร ตันติยาทร บริษัท บ้านบันดาลใจ จำกัด กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตรายการเด็กเชิงสารคดี พบว่า รูปแบบรายการที่ส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้โลกกว้าง เรียนรู้ความเป็นไทย ถูกจัดลำดับความสำคัญอยู่ท้ายแถว ต่อจากเกมส์โชว์ ประกวดร้องเพลง การ์ตูน เพราะผู้สนับสนุนไม่รู้จะขายอะไรในรายการ ถือเป็นปัญหาที่ขัดขวางการพัฒนาของรายการเด็กอย่างมาก ซึ่งผู้ผลิตรายการย่อมอยากทุ่มเทมุ่งมั่นทำงานให้มีเนื้อหาที่เป็นประโยชน์กับเด็กมากที่สุด แต่บางครั้งไม่สามารถทำได้ หากอยากให้รายการอยู่นานๆ จำเป็นต้องตามใจผู้สนับสนุนให้มีการโฆษณาชวนเชื่อในรายการเพื่อหาเงินมาสนับสนุน
กำลังโหลดความคิดเห็น