กทม.เล็งทำประชาพิจารณ์คนกรุงเทพฯ ถามความต้องการใช้ระบบขนส่งมวลชน พร้อมเตรียมถก “โสภณ ซารัมย์” ส่วนต่อบีทีเอส 3 สายทาง
นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ตนได้ทำหนังสือถึง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.เพื่อหารือกับนายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เกี่ยวกับโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าบีทีเอส 3 สายทาง ได้แก่ สายหมอชิต-สะพานใหม่ สายแบริ่ง-สมุทรปราการ และสายสนามกีฬาแห่งชาติ-พรานนก ซึ่ง กทม.จะขอรับดำเนินการเอง ตามมติ ครม.พ.ศ.2547 ซึ่งได้ให้ กทม.เป็นผู้ศึกษาและดำเนินการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนระบบราง (รถไฟฟ้า) ก่อนขอมติ ครม.อีกครั้งในวาระการประชุม ครม.ช่วงเดือน ส.ค.นี้ ทั้งนี้ ตนยังได้เสนอผู้ว่าฯ กทม.ให้อนุมัติการทำประชาพิจารณ์สำรวจความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับความต้องการในการใช้งานระบบขนส่งมวลชนด้วยว่าต้องการอย่างไร อัตราค่าโดยสารเท่าใด โดยละเอียดด้วย
นายธีระชนกล่าวด้วยว่า ขณะนี้มีผู้สนใจลงทุนเป็นหลายราย โดยเฉพาะบริษัท China Rail จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ตลอดจนนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ที่ได้พูดคุยกันไว้เบื้องต้นก่อนหน้านี้ด้วย ดังนั้นเรื่องแหล่งเงินทุนจึงไม่น่าจะมีปัญหา
“ผมมีข้อสังเกตด้วยว่า ทำไมสายสนามกีฬาแห่งชาติ-พรานนก ที่เดิม กทม.ศึกษาไว้ 7.7 กม.แต่ สนข.ทำให้เหลือ 1 กม.มาถึงแค่ยศเสเท่านั้น แล้วเอาสายพรานนกไปอยู่ในสายสีชมพูของ สนข. ถามว่าคิดได้ยังไง เอาอะไรคิด สร้างทางรถไฟฟ้ากิโลเดียวสร้างไปทำไม มันไม่เกิดประโยชน์ ทั้งๆ ที่ กทม.ก็ศึกษาไว้แล้ว ทำไมไม่เอาไปทำ อันนี้รวมไปถึงสายหมอชิต-ศูนย์ราชการที่ กทม.ศึกษาจะทำเส้นทางบีอาร์ทีไว้มีแผนมีงบประมาณพร้อม สนข.ก็โพล่งออกมาว่าจะทำรถไฟฟ้าต่อหน้าต่อตากันอีก ซึ่งก็ต้องถามทางรัฐบาลเหมือนกันว่านี่มันอะไร
อีกทั้งตอนนี้ยังจะมาใช้พื้นที่ย่านเขตบางเขนเป็นสถานีปลายทางของสายสีเขียว ถามว่าเคยได้มาขออนุญาต กทม.หรือยัง เพราะ กทม.ยังไม่ได้อนุญาตให้แต่อย่างใดในการใช้พื้นที่ และก็คาดว่าท่านผู้ว่าฯ คงไม่ยอมอย่างแน่นอน โดยเฉพาะการจะให้ประชาชนผู้ใช้บริการระบบขนส่งมวลชนกระโดดจากรถขบวนหนึ่งไปอีกขบวนหนึ่ง จุดนี้ต้องตอบคำถามประชาชนให้ได้ว่าทำอย่างไรค่าโดยสารจะถูกจะประหยัด และไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ใช้บริการด้วย” นายธีระชนกล่าว
ส่วนกรณีการเจรจากับพรรคร่วมรัฐบาลซึ่งมาจากต่างพรรค ที่มีหลายฝ่ายเกรงว่าอาจส่งผลต่อการเจรจานั้น นายธีระชนกล่าวว่า ไม่กังวลแต่อย่างใด ขอเพียงทุกฝ่ายทำงานเพื่อประชาชน นำภาษีของประชาชนมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและไม่ทำอะไรที่ซ้ำซ้อนกัน
“ถ้าเขาตอบว่าอยากทำมาก ก็ควรเอางานที่กทม.ศึกษามาไปทำเสียเลย แต่เมื่ออยู่ในพื้นที่ กทม.แล้วทำไมไม่ให้ กทม.ทำ ต้องตอบคำถามนี้ให้ได้ด้วย หรือแม้แต่เรื่องรถไฟฟ้า ถ้าเขาอยากทำจริงเรื่องระบบอาณัติสัญญาณก็ควรให้ กทม.ทำ เพื่อให้ระบบเชื่อมต่อกัน แต่ไม่ใช่อยู่ๆ จะมาเอาพื้นที่เขตบางเขนไปใช้ ถามผู้ว่าฯ หรือยังว่าให้หรือไม่” นายธีระชนกล่าว
สำหรับมูลค่าโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าที่ กทม.ศึกษาไว้นั้น สายหมอชิต-สะพานใหม่เบื้องต้นประมาณ 23,000 ล้านบาท สายแบริ่ง-สมุทรปราการ 13,000 ล้านบาท ส่วนสายสนามกีฬาแห่งชาติ-พรานนก ซึ่งเป็นโครงการสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินนั้น มูลค่าอยู่ที่ 26,000 ล้านบาท