กทม.เล็งนำหุ่นยนต์กู้ภัยชนะเลิศระดับโลกของเด็กไทยต่อยอดใช้งานจริงใน กทม.ชี้ มีความเป็นไปได้ 70 เปอร์เซ็นต์ “สุขุมพันธุ์” มอบ สปภ.ขยายผลต่อ
วันนี้ (15 ก.ค.) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ทีมชนะเลิศการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และ ทีมชนะเลิศการแข่งขันหุ่นยนต์เตะฟุตบอล จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้าพบ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าฯ กทม.โดยมีตัวแทนสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม.หัวหน้าสถานีดับเพลิง 35 แห่ง สำนักการแพทย์ สำนักเทศกิจ เข้าร่วมรับฟังความสำเร็จการแข่งขันหุ่นยนต์โลก ที่ประเทศออสเตรีย
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า ได้ติดตามข่าวความสำเร็จของทั้งสองทีม ซึ่งทั้งสองมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ใน กทม.และเห็นว่า กทม.มีนโยบายส่งเสริมให้เด็กเยาวชนมีความคิดสร้างสรรค์ จึงควรสนับสนุนทั้ง 2 มหาวิทยาลัยให้เป็นรูปธรรม รวมทั้งพัฒนาหุ่นยนต์ในการนำมาใช้ช่วยเหลืออุบัติภัยต่างๆ เช่นอาคารถล่ม เหตุเพลิงไหม้ ฯลฯ โดยมอบหมายให้ สปภ.เป็นผู้ประสานงานกับทั้ง 2 มหาวิทยาลัย
นายปัญญา เหล่าอนันต์ธนา ผู้ช่วยอธิการบดี และอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ผู้ควบคุมทีมสกูรบ้า กล่าวถึงรางวัลที่ได้รับ 3 แชมป์ คือ 1.ทำประตูได้มากที่สุด 2.ด้านเทคนิคยอดเยี่ยม วัดจากวิ่งเร็วที่สุดควบคุมได้ 3 เมตร/วินาที และยิงประตูสูงสุด 2 นาทีทำได้ 9 ลูก 3.ด้านงานวิจัยปัญญาประดิษฐ์ที่หุ่นยนต์สามารถคิดเองได้ ส่วนความร่วมมือกับกทม.มองในด้านการส่งเสริมให้เด็กนักเรียนในสังกัดกทม.ได้สัมผัสกับหุ่นยนต์เตะฟุตบอลช่วยส่งเสริมให้เด็กหันมาสนใจเทคโนโลยี ซึ่งทางมหาวิทยาลัยยินดีที่จะนำหุ่นยนต์ไปแสดงในโรงเรียน ส่วนการนำหุ่นยนต์ใช้ในด้านกู้ภัย สามารถใช้โปรแกรมที่พัฒนาให้หุ่นยนต์คิดเองได้ หากพบสถานการณ์ที่คนไม่สามารถบังคับหุ่นยนต์
ด้านนายชัชชัย เสริมพงษ์พันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวถึงความร่วมมือกับ กทม.หากจะนำหุ่นยนต์กู้ภัยที่ชนะการแข่งขันมาใช้งานจริงมีความเป็นไปได้ร้อยละ 70 ส่วนที่เหลือหากใช้งานจริงต้องปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เพราะหุ่นยนต์ที่แข่งขันประดิษฐ์ขึ้นตามกติกาการแข่งขัน เช่น การตรวจจับความร้อน ตรวจคาร์บอนไดออกไซด์ หากนำมาใช้จริงอาจต้องปรับเรื่องวัสดุที่ใช้ผลิต เพิ่มขีดความสามารถให้เหมาะกับการกู้ภัยประเภทต่างๆ ทั้งเหตุอาคารถล่ม เพลิงไหม้ เก็บกู้วัตถุระเบิด ปัจจุบันทางกระทรวงกลาโหมได้ประสานกับทางมหาวิทยาลัยเพื่อผลิตหุ่นกู้วัตถุระเบิดอยู่ในขั้นหารือ