xs
xsm
sm
md
lg

หนุนสอบ V-NETวัดกึ๋นเด็กอาชีวะ เน้นวิชาการ-วิชาชีพ ก่อนออกตลาดงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


มหา’ลัยติงอาชีวะ ยอมรับความจริง คุณภาพเด็กด้อย หนุนจัดทดสอบ V-NET ชี้สถานศึกษาต้องเตรียมพร้อมพื้นฐานวิชาการให้เด็ก หวั่นอนาคตเด็กอาชีวะเป็นได้เพียงแรงงานขั้นต่ำ มทร.อีสาน แนะสถาบันอาชีวะยึดพัฒนาคุณภาพเด็กเป็นหลัก อย่านึกถึงแต่ความอยู่รอดของสถาบัน

รศ.ดร.กอบชัย เดชหาญ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวถึงกรณีที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) จัดทดสอบทางการศึกษานักเรียนในหลักสูตรอาชีวศึกษาระดับประกาศนียบีตรวิชาชีพ(ปวช.)ในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา( สศอ.) โดยเบื้องต้นเรียกชื่อการทดสอบว่า Vocational National Educational Test หรือ V-NET ว่า การจัดทดสอบนักเรียนอาชีวะเป็นเรื่องดี เพราะทำให้สถาบันอาชีวะตื่นตัว และพัฒนาตนเองมากขึ้น แต่การสอบวัดความรู้ของเด็ก อยากให้สอบทั้งทางวิชาชีพและวิชาการ เนื่องจากเมื่อนักเรียนอาชีวะออกสู่ตลาดแรงงาน เป็นช่างฝีมือ ต้องมีความรู้ความสามารถทั้ง 2 ด้าน แต่หากงบประมาณในการจัดทดสอบไม่เพียงพอ ในช่วงแรกควรสอบวัดความรู้ทางด้านวิชาการก่อน เพื่อนำผลที่ได้มาวิเคราะห์ และดูคุณภาพของเด็กอาชีวะ

“หากไม่มีการสอบวัดมาตรฐานเด็กอาชีวะ อนาคตจะไม่แตกต่างอะไรกับแรงงานขั้นต่ำ เพราะเมื่อจบออกไปต้องถูกองค์กรวิชาชีพต่างๆ วัดความรู้ หากไม่สามารถสอบผ่านการทำงานของพวกเขาไม่ได้รับการยอมรับ เรียนมาก็ไร้ความหมาย อีกทั้งจากการสำรวจความต้องการบุคลากรของผู้ประกอบการ ร้อยละ 90 ต้องการคนที่มีคุณภาพทางด้านวิชาการพื้นฐาน คิดวิเคราะห์ และรู้จักประยุกต์ความรู้ที่มีอยู่สร้างสรรค์ฝีมือ และพัฒนาฝีมือแรงงานตลอด มากกว่าคนทำงานฝีมือเป็นอย่างเดียว เพราะสถานประกอบการมั่นใจว่ามีความพร้อม ฝึกความรู้ความชำนาญทางด้านวิชาชีพให้แก่เด็กได้ แต่ด้านวิชาการพวกเขายังต้องพึ่งสถาบันการศึกษาเตรียมพร้อมให้กับเด็ก อาชีวะจึงต้องยอมรับความจริง และร่วมกันพัฒนาคุณภาพเด็กอาชีวะในทุกๆด้าน ไม่ใช่เป็นเพียงฝึกอาชีพอย่างเดียว และไม่ควรคิดถึงแต่สถาบันของตนเอง แต่ต้องคิดถึงประเทศชาติด้วย ”รศ.ดร.กอบชัย กล่าว

ด้าน รศ.วินิจ โชติสว่าง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) อีสาน กล่าวว่า หากมีการสอบวัดความรู้ทางด้านทฤษฎี กลุ่มอาชีวะและหน่วยงานที่รับผิดชอบนอกจากยอมรับผลที่เกิดขึ้นแล้ว ต้องนำผลที่ได้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ไม่ใช่วัดไปเฉยๆ แล้วไม่ได้นำมาทำอะไร เพราะหากไม่มีการตื่นตัวในการพัฒนาเด็กอาชีวะ อนาคตประเทศไทยจะขาดช่างฝีมือที่มีคุณภาพ อย่างไรก็ตาม สถาบันอาชีวะต้องเป็นตัวตั้งตัวตีในการพัฒนาคุณภาพเด็กเป็นหลัก อย่านึกถึงแต่ผลประโยชน์ ความอยู่รอดของสถาบัน
กำลังโหลดความคิดเห็น