xs
xsm
sm
md
lg

วิศวะชง ทปอ.ใช้ PAT คณิตคัดเด็กปี 54 แก้อ่อนเลข-ยันแอดมิชชันปีหน้าเกณฑ์เดิม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สภาคณบดีวิศวะ เผย เตรียมเสนอยกเลิก PAT2 ด้านวิทยาศาสตร์ มาใช้ PAT1 แทนในแอดมิชชัน 54 แก้ปัญหาได้เด็กอ่อนเลขเข้าเรียนวิศวะ ลั่นหากไม่ได้สัดส่วนที่ต้องการ คณะวิศวะ สจล.เตรียมเปิดรับตรงมากขึ้น อาจถึง 80% ชี้ รับตรงคัดเด็กเก่งได้มากกว่าวิธีการสอบแบบอื่น

ดร.ปกรณ์ วัฒนจตุรพร รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง เปิดเผยถึงการประชุมใหญ่สามัญประจำปี สภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย สมัยที่ 31 ที่ ซึ่งมีขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ว่า สำหรับประเด็นเกี่ยวกับองค์ประกอบและค่าน้ำหนักการรับบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาระบบกลาง หรือแอดมิชชัน ปีการศึกษา 2553 ที่ประชุมยังคงยืนยันตามที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้ประกาศให้นักเรียนได้รับทราบแล้ว

ส่วนการปรับย่อย หรือปรับสัดส่วนค่าน้ำหนักคะแนนขององค์ประกอบสำหรับแอดมิชชันปี 2554 ได้ข้อสรุปว่า ที่ประชุมสภาคณบดีคณะวิศวะ จะเสนอให้ปรับเปลี่ยนองค์ประกอบในการสอบใหม่ โดยแอดมิชชัน 54 เสนอให้ใช้ PAT1 ความถนัดทางคณิตศาสตร์ ในการคัดเลือกนักศึกษาคณะวิศวะ และยกเลิก PAT2 ความถนัดทางวิทยาศาสตร์ เนื่องจากระบบแอดมิชชันที่ผ่านมาให้สัดส่วนคะแนนทางด้านคณิตศาสตร์ น้อยมาก ทำให้เด็กที่เข้ามาเรียนในสาขานี้ มีความรู้ทางด้านคณิตศาสตร์น้อยลง ทั้งๆ ที่คนที่เรียนสาขานี้จำเป็นอย่างมากที่ต้องมีความรู้ทางด้านคณิตศาสตร์ที่ดี

ดร.ปกรณ์ กล่าวต่อว่า ในการเปลี่ยนจาก PAT2 มาเป็น PAT1 สภาคณบดีวิศวะ จะนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการแอดมิชชันฟอรัม เพื่อดำเนินการวิเคราะห์ พิจารณาต่อไป โดยสัดส่วนค่าน้ำหนักและองค์ประกอบที่ต้องใช้การรสอบแอดมิชชันปี 2554 จะประกอบด้วย PAT 1 15%, PAT3 ความถนัดทางวิศวกรรมศาสตร์ 20% ส่วน GAT 15%, GPAX 20% และ โอเน็ต 30% อย่างไรก็ตาม หากไม่ได้ในสัดส่วนที่วางไว้ ทางคณะวิศวะ สจล.คงต้องดำเนินการเปิดรับตรงมากขึ้น ถึง 80% เนื่องจากการเปิดรับตรงสามารถคัดเลือกนักศึกษาได้ตรงตามคุณสมบัติที่ต้องการ

“จากสถิติระดับการเรียนของนักศึกษาที่ผ่านระบบรับตรง และระบบอื่น ของ สจล.พบว่า นักเรียนที่เข้ามาเรียนคณะวิศวะ จากการรับตรงมีผลการเรียนในระดับที่ดีกว่านักเรียนที่รับเข้ามาโดยวิธีอื่น อีกทั้งวิธีรับตรงยังช่วยให้คณะฯ สามารถใช้ทรัพยากรเพื่อการเพิ่มพูนความรู้และทักษะในวิชาชีพให้กับนักศึกษา แทนที่จะใช้ไปเพื่อการปรับความรู้พื้นฐานของนักศึกษาใหม่ให้มีความพร้อมในการเรียนคณะวิศวะ เนื่องจากนักศึกษาที่เข้ามาโดยวิธีดังกล่าวมีความพร้อมในการเรียนมากกว่า” ดร.ปกรณ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น