รายงานพิเศษโดย...กองทรัพย์ ชาตินาเสียว
โรตี...เป็นอาหารว่างประจำ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาอย่างยาวนาน และเป็นภาพสะท้อนวิถีชีวิตพื้นถิ่นได้ดี ซึ่งบรรยากาศที่คุ้นตาสำหรับคนใน จ.ปัตตานี และจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่พบเห็นประจำทุกเช้า คือ กลุ่มชาวบ้านน้อยใหญ่รวมกลุ่มนั่งกินโรตี แกล้มน้ำชา กาแฟ มิหนำตอนเย็นและกลางวันก็มีโรตีเคียงอาหารจานหลักด้วย
แต่ในวันนี้ วัฒนธรรมการกินโรตีพัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง เมื่อ “วิทยาลัยอาชีวศึกษาปัตตานี” ได้ผลิต “โรตีกรอบ” ขึ้นมา กระทั่งกลายเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมที่ได้รับความนิยมและแพร่หลายออกสู่วงกว้างไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ
**ค้นก้นครัวอาชีวะปัตตานี
อ.พูลสุข ธัชโอภาส ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษา ปัตตานี เล่าถึงที่มาของแบรนด์โรตีกรอบอาชีวะ ว่า แต่เดิมนั้นอาชีวะปัตตานีขายโรตีสด คู่กับน้ำชา กาแฟ ตลอดมาและได้รับผลตอบรับดี แต่อายุการผลิตนั้นสั้นและเก็บได้ไม่นาน จึงเกิดแนวคิดพัฒนาจากโรตีสดให้เป็นโรตีกรอบ โดยแรกเริ่มนั้นมีเพียงนักเรียนคหกรรมกลุ่มเล็กๆ ที่รวมตัวกันทำเท่านั้น ไม่ได้คาดว่าจะต้องทำให้กลายเป็นอาหารว่างยอดนิยม หรือทำแล้วสามารถคงรูป คงรสได้นานเท่าใด จนกระทั่งมีการออกร้านอาชีวะจากทั่วประเทศจึงทำให้รู้ว่าโรตีกรอบอาชีวะสามารถเข้าตีตลาดทั้งในปัตตานีและต่างจังหวัดได้ จึงเริ่มออกแบบกล่องบรรจุส่งขายตามหัวเมืองใหญ่
“ครั้งแรกตอนปี 2545 เริ่มจากไม่มีอะไรเลย ตอนนั้นยังมีแค่เตาเดียว ต่อมาปี 2550 เพิ่มเป็น 8 เตา จากนั้นก็ตั้งโรงงานเล็กๆ ในโรงเรียนนี่แหละ จนกระทั่งนักเรียนชุดที่เป็นรุ่นบุกเบิกเรียนจบ ซึ่งก็ได้ชักชวนกันเข้ามาทำโรงงานด้วยกัน ตอนนี้มีพนักงานอยู่ทั้งหมด 22 คนเด็กที่เข้าเรียนในอาชีวะปัตตานีส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ น้อยมากที่จะมาจากภูมิภาคอื่น และหากเจาะจงไปยังกลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่เข้ามาทำโรตีกรอบนั้นมีทั้งเด็กที่เรียนสาขาคหกรรม และสาขาอื่นๆ ซึ่งเขามีความสนใจ”
ผอ.วิทยาลัยอาชีวศึกษาปัตตานี บอกอีกว่า แม้ว่านักศึกษาจะคุ้นชินกับโรตีเป็นอย่างดีแล้วเพราะพวกเขาคลุกคลีกับอาหารชนิดนี้มาตั้งแต่เด็ก แต่ฐานะของผู้ผลิตและผู้บริโภคย่อมแตกต่างกัน เมื่ออยู่ในฐานะผู้ขาย เด็กจากก้นครัวอาชีวะเหล่านี้จึงต้องถูกเคี่ยวเข็ญนานกว่า 3 เดือนเพื่อฝึกทำโรตีจนกว่าจะคล่อง ตั้งแต่ผสมแป้ง ฟาดแป้ง ทอดแป้ง ตัดโรตี ใส่บรรจุภัณฑ์ และฝึกเป็นพนักงานหน้าร้าน วิธีการทั้งหมดนี้เพื่อให้เป็นผู้ผลิตที่ได้มาตรฐานนั่นเอง
“พัฒนาการ 3 เดือนแรกที่ให้ทำ ก็คือ คลึงแป้ง ฝึกฟาดโรตี ทอด เด็กที่ไม่อดทนก็อยู่ไม่ได้เพราะว่าเขาต้อง ทำทั้งหน้าร้านและโรงงานด้วย อยู่หน้าเตาเป็นเวลานานทุกวัน ทำตั้งแต่ 7 โมงถึง 5 โมงเย็น หยุดวันอาทิตย์วันเดียว คนทำงานวันนี้ส่วนมากยังเป็นศิษย์เก่ากับนักศึกษาปัจจุบัน และระยะหลังเราเปิดโอกาสให้คนนอกเข้ามาทำงานในวิทยาลัยมากขึ้นด้วย”อ.พูลสุข บอก
**ก่อวัฒนธรรมสร้างงาน
แบรนด์ครัวอาชีวะนอกจากจะกวักมือเรียกให้คนนอกพื้นที่หยิบโรตีกรอบชุ่มนมข้นหวานไปชิมแล้ว ยังสร้างแรงจูงใจให้เยาวชนในท้องที่อยากเรียนวิชาคหกรรมมากขึ้นด้วย เห็นจากตัวเลขซึ่งระบุว่า ในบางปีจำนวนนักศึกษาคหกรรมมีเพียง 3 คน ทว่าปัจจุบันมีผู้เข้าเรียนทั้งสิ้น 32 คน ไม่เพียงเป็นกำลังหลักของโรงงานโรตีกรอบเท่านั้นยังช่วยคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นด้วย ซึ่ง อ.พูลสุข บอกว่า รายได้จากการขายสินค้าที่ออกจากครัวอาชีวะปัตตานีนั้น 75 เปอร์เซ็นต์จะเป็นของนักศึกษา 5 เปอร์เซ็นต์เก็บไว้พัฒนาโรงงาน และอีก 20 เปอร์เซ็นต์เป็นของวิทยาลัย
“เด็กที่เข้ามาทำงานกับเรามีทุกสาขา กล่องบรรจุเป็นหน้าที่ของนักศึกษากราฟิกดีไซน์ แต่ส่วนใหญ่ตัวยืนจะเป็นเด็กคหกรรม ซึ่งพวกเขาหารายได้ได้เยอะมาก ในแต่ละเดือนเขาสามารถทำรายได้ให้ครอบครัวได้ ตอนนี้มีคนเข้าคิวมาลงชื่อเป็นพนักงานโรตีกรอบมากพอสมควร เพราะรายได้ดี มั่นคง เฉพาะคนที่เริ่มก่อตั้งตอนนี้มี 3 คน จะเบิกเงินเดือนไป 15,000 บาทต่อคนต่อเดือน โบนัสปลายปีก็เฉลี่ยได้คนละ 160,000 บาท ถ้าเป็นพนักงานแรกเข้าเงินเดือนอยู่ที่ 5,000 บาท หนึ่งปีจะปรับเงินเดือนหนึ่งครั้ง และให้เข้าระบบสวัสดิการสังคม” อ.พูลสุข สรุป
ด้าน “นิยะห์ แวยามา” หรือ น้องยะห์ หนึ่งในพนักงานเล่าว่า หลังจบ ม.6 ที่โรงเรียนสอนศาสนาก็ทำงานในหลายที่ กระทั่งสุดท้ายถูกรุ่นพี่ชักชวนให้มาทำงานในโรงงานโรตีกรอบของอาชีวะ ซึ่งเมื่อทำแล้วก็ชอบเพราะคุ้นเคยกับโรตีมาตั้งแต่เด็กและคิดว่าการทำโรงงานในวิทยาลัยเป็นแนวคิดที่ดี เนื่องจากทำให้ศิษย์เก่ามีงานทำ และยังเปิดโอกาสให้คนภายนอกอย่างเธอเข้ามาทำงาน มีรายได้ด้วย
“แม้หน้าเตาจะร้อน และยืนนานกว่าวันละ 7 ชั่วโมง แต่เมื่อเทียบรายได้แล้ว การทำงานในโรงงานโรตีกรอบนับว่าสูงเมื่อเทียบกับงานอื่นๆ อีกทั้งบรรยากาศการทำงานยังเป็นกันเอง อยู่อย่างครอบครัว และมีสวัสดิการสังคมให้อย่างสมน้ำสมเนื้อ”
ขณะที่ “ยามีลา อุเซ็ง” บอกว่า จบคหกรรมระดับ ปวช.จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาปัตตานี ในปี 2548 โดยหลังจากนั้นก็เรียนคหกรรมต่อใน ม.สุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ทันที และในระหว่างเรียนก็ทำงานกับโรตีกรอบครัวอาชีวะไปด้วย
“รายได้จากการทำงานใช้เป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวโดยไม่ต้องพึ่งพาครอบครัว และได้ใช้วิชาความรู้ด้านคหกรรมมาใช้และประยุกต์กับการเรียนได้ด้วย อยากฝากถึงเพื่อนที่เรียนคหกรรม เพื่อนระดับมหาลัยที่เรียนไปด้วยทำงานไปด้วยว่า ถึงแม้เราจะทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย ก็อย่ายอมแพ้ ถึงจะเหนื่อยหน่อยแต่ก็น่าภูมิใจที่ได้ช่วยพ่อแม่ เราเอารายได้ส่วนของเรามาใช้ โดยไม่ต้องรบกวนพ่อแม่ก็ถือเป็นสิ่งดี” ยามีลา กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ ในวันหนึ่งๆ โรตีกรอบจากครัวอาชีวศึกษาปัตตานีจะออกจากเตาประมาณ 350 กล่อง ซึ่งหนึ่งกล่องมีโรตี 8 แผ่นบางกรอบบรรจุอยู่ รอให้ตัวแทนจำหน่ายซึ่งเป็นศิษย์เก่ามารับจากเตาส่งตรงถึงร้านค้า อาหารว่างเก่าแก่จากแดนใต้ กลายเป็นของว่างที่คนเข้าคิวยาวเหยียดรอซื้อ นับเป็นเรื่องน่าภูมิใจยิ่ง รอเพียงว่าวันใดจะไปประกาศว่า “นี่คือของดีปัตตานี” ในต่างแดนอย่างเป็นทางการเท่านั้น…