xs
xsm
sm
md
lg

ผลสำรวจผู้พิการปี 51 พบร้อยละ 70 โสด มีส่วนร่วมทางการเมืองดีเยี่ยม แต่เข้าถึงบริการสนามบินยาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม นิด้า เผยผลสำรวจสถานการณ์คนพิการปี 51 พบกว่า 70% โสด ไม่ได้เรียนหนังสือขาดโอกาสร่วมกิจกรรมสังคม น่าชื่นชมคนพิการใช้สิทธิทางการเมืองอย่างดีเยี่ยม ติงดอนเมือง-สุวรรณภูมิ สนามบินจังหวัด ผู้พิการไม่สามารถเข้าถึงบริการได้

วันนี้ (8 ก.ค.) นายวิชัย รูปขำดี หัวหน้าโครงการวิจัยติดตามและประเมินผลแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2550-2554) คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวถึงรายงานสถานการณ์คนพิการปี พ.ศ.2551 ว่า เป็นการศึกษาการมีส่วนร่วมของคนพิการในกิจกรรมทางสังคม โดยสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างคนพิการ 340 คน และสัมภาษณ์เจาะลึกผู้นำคนพิการ 21 คน ในภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ และ กรุงเทพมหานคร ผลการศึกษา พบว่า คนผู้พิการส่วนใหญ่อาศัยอยู่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมา คือ ภาคกลาง เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิงประมาณเท่าตัว ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 21-30 ปี มากกว่าครึ่งพิการทางการเคลื่อนไหว รองลงมาคือ พิการทางสายตา มากกว่าร้อยละ 70 เป็นโสด ส่วนใหญ่จบชั้นมัธยมศึกษา และร้อยละ 10.71 ไม่ได้รับการศึกษา และมากกว่าร้อยละ 70 ได้รับเงินเดือนไม่เกิน 5,000 บาท

หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวอีกว่า การมีส่วนร่วมของคนพิการในกิจกรรมทางสังคม พบว่า คนพิการมักขาดโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม อาทิ การประชุมแก้ไขปัญหาในชุมชน การเข้าร่วมเวทีประชาคมที่จัดโดยท้องถิ่น การเป็นสมาชิกกลุ่มต่างๆในชุมชน เป็นต้น เนื่องจากไม่สะดวกในการเดินทาง ไม่มีเวลา โอกาส ไม่ได้รับข้อมูลข่าวสาร อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ที่จะใช้สิทธิและอ่าน เขียนไม่ได้

ขณะที่ผู้พิการจะไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้แทนระดับท้องถิ่น ระดับชาติ ใช้สิทธิทางการเมืองอย่างดีเยี่ยม นอกจากนั้น ผู้พิการที่อยู่ในภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง สามารถเข้าถึงบริการโดยรวมได้เป็นอย่างดี อาทิ โรงพยาบาลของรัฐ สถานีอนามัยใกล้บ้าน อบต.ส่วนบริการที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ คือ สนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินจังหวัด ขณะที่ภาคใต้ ส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงบริการต่างๆได้ง่าย

“จากการศึกษามีข้อเสนอแนะต่อคนพิการว่าควรเข้าใจ และเข้าถึงสิทธิที่ตนพึงได้รับตามที่กฎหมายกำหนด องค์กรคนพิการต้องพิทักษ์ ปกป้อง คุ้มครองสิทธิของคนพิการ และหน่วยงานภาครัฐต้องให้หลักประกันในการดำรงชีวิต ได้แก่ มีสถานที่สำหรับพักอาศัย มีอาหาร เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ยามเจ็บป่วยได้รับการรักษา รวมทั้งจัดให้มีเบี้ยยังชีพ การพัฒนาทักษะอาชีพ และมีทุนประกอบอาชีพสำหรับคนพิการ หน่วยงานของรัฐที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการควรรับคนพิการเข้าทำงาน เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับสถานประกอบการตามที่กฎหมายกำหนด รัฐควรตระหนักถึงการช่วยเหลือเด็กออทิสติก เด็กพิการทางสมองและสติปัญญามากขึ้นด้วย”นายวิชัย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น