พก.จับมือ ภาคเอกชน สร้างงานให้คนพิการ ผ่านโครงการหางานเพื่อเพื่อนผู้พิการ ขายของผ่านทางโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต ทำงานอยู่บ้านได้ ด้านการขึ้นทะเบียนคนพิการ เล็งประสานกทม. ให้ศูนย์บริการสาธารณสุขฯ เปิดรับขึ้นทะเบียนได้ เพื่อความสะดวกมากขึ้น
นางกิ่งแก้ว อินหว่าง เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ(พก.) กล่าวว่า การจ้างงานคนพิการถือเป็นภาระกิจสำคัญที่ พก.ต้องเอาใจใส่ดูแล ทำให้เกิดความร่วมมือกับ บริษัท พี ดับบลิว ดี เอาท์ซอส เมเนจเมนท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ก่อตั้งโดยผู้พิการ ได้ร่วมกันจัดทำ "โครงการหางานเพื่อเพื่อนผู้พิการ" ขึ้น โดยเปิดรับผู้พิการเข้าทำงานในหน้าที่ของ Telesales หรือ การขายสินค้าผ่านทางระบบโทรศัพท์ และอินเทอร์เน็ต ซึ่งถือเป็นการรับสมัครครั้งที่ 3 แล้ว โครงการที่ผ่านมานั้นมีผู้พิการสนใจเข้าทำงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในครั้งแรกมีผู้พิการสมัครมากกว่า 20 คน ครั้งที่2 30 คน และในครั้งที่ 3 นี้ก็หวังว่าจะมียอดผู้พิการสมัครทำงานเพิ่มขึ้นกว่าครั้งที่ผ่านมา โดยผู้พิการที่สมัครเข้าร่วมทำงานกับโครงการฯ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้พิการทางด้านร่างกาย พิการทางสายตา สามารถทำงานอยู่ที่บ้านได้ ใช้เพียงแค่โทรศัพท์ และออนไลน์ระบบผ่านทางอินเทอร์เน็ตเท่านั้น
"โครงการที่เกิดขึ้นนี้ พก.เองเป็นเสมือนตัวกลางในการอำนวยความสะดวก โดยมีเจตนาช่วยเหลือผู้พิการให้มีงานทำ ซึ่งสอดคล้องกับเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ผู้พิการที่อยู่กับบ้านบางคนอยากมีรายได้ แต่ติดปัญหาที่ไม่สามารถเดินทางไปไหนได้ สำหรับโครงการหางานเพื่อเพื่อนผู้พิการในครั้งที่ 3 นี้ ผู้พิการที่สนใจสามารถเข้าดูรายละเอียด พร้อมทั้งดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ www.pwdom.com และนอกเหนือจากนี้ทางกระทรวงแรงงานก็ยังมีบริการจัดหางานให้คนพิการเช่นเดียวกับคนปกติทั่วๆ ไป ผู้พิการที่ประสงค์จะทำงานก็สามารถไปติดต่อสมัครได้ที่กระทรวงแรงงานโดยตรงทันที" นางกิ่งแก้วกล่าว
ในส่วนของการขึ้นทะเบียนคนพิการนั้น เลขาธิการ พก. กล่าวว่า ผู้พิการสามารถขึ้นทะเบียนได้ตลอดเวลา หากเป็นต่างจังหวัดสามารถแจ้งได้ที่ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ทุกที่ และโรงพยาบาลประจำจังหวัดเกือบทุกแห่ง ส่วนในกทม.นั้นสามารถขึ้นทะเบียนได้ที่ศูนย์พัฒนาสังคมและสวัสดิการทั้ง 12 แห่ง ซึ่งกระจายอยู่ตามเขตต่างๆ อีกทั้งโรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี สถาบันราชานุกูล ก็เป็นจุดที่ผู้พิการสามารถขึ้นทะเบียนได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งในตอนนี้มีผู้พิการทั่วประเทศที่ขึ้นทะเบียนและมีบัตรแล้วประมาณ 8 แสนคน
เลขาธิการ พก. กล่าวด้วยว่า สำหรับอนาคตในการขึ้นทะเบียนคนพิการนั้น ทางพก.ได้เตรียมการเพื่อเจรจากับกทม. ให้ศูนย์บริการสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร ที่มีมากกว่า 60 แห่ง สามารถเปิดดำเนินการแจ้งขึ้นทะเบียนผู้พิการได้ เพราะจะทำให้เกิดความสะดวกแก่ผู้พิการมากยิ่งขึ้น