“อภิสิทธิ์” หารือตัวแทนภาคีเครือข่ายคนพิการ ยอมรับงบประมาณมีจำกัด ทำจัดสรรงบไม่เพียงพอ วอนต้องให้ดูแลตัวเองไปก่อน แต่ย้ำไม่ทิ้งแน่ ระบุให้ผลิตล่ามภาษามือสำหรับผู้พิการทางหูอย่างมืออาชีพ กำหนดค่าตอบแทนเทียบเท่าวิทยากร ด้านคนพิการทั่วประเทศ ยื่น 5 ข้อเสนอ ขอจัดยานพาหนะ การศึกษา ระบบสื่อ 24 ชั่วโมง ให้องค์กรท้องถิ่นเป็นเจ้าภาพ
วันนี้ (21 พ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้การต้อนรับ นายชูศักดิ์ จันทยานนท์ รองประธานคนที่ 1 รักษาการแทนประธานสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย นำผู้พิการและภาคีเครือข่ายคนพิการเข้าพบ เพื่อหารือเกี่ยวกับปัญหาคนพิการ
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ในช่วงเวลา 2-3 ปีนี้ เรื่องงบประมาณจะมีความลำบากอยู่บ้าง ซึ่งทุกคนคงจะมีความเข้าใจดี เนื่องจากงบประมาณจากการจัดเก็บภาษีที่ลดลงไปประมาณ 200,000 ล้านบาทจากสภาพเศรษฐกิจ ทั้งนี้จะไปดูเรื่องกองทุนเพราะมีเรื่องที่เสนอมาเกี่ยวกับเรื่อง “กองทุนสำหรับออทิสติก” ด้วย โดยได้ให้มีการสรุปสถานะทางการเงินของกองทุนในปัจจุบัน ซึ่งสำนักงบประมาณจะพิจารณาว่าถ้ากองทุนใดยังมีความสามารถดูแลตัวเองได้ในปีนี้ก็จะยังไม่จัดงบประมาณเพิ่มให้ แต่ทั้งนี้จะให้สำนักงบประมาณไปตรวจสอบตัวเลขของเงินกองทุนอีกครั้งให้ชัดเจนว่ามีเพียงพอ ส่วนข้อเสนอในเรื่องใดที่สามารถติดตามได้โดยเร็วก็จะดำเนินการให้โดยเร็วโดยเฉพาะเรื่องการออกสลากพิเศษฯ สำหรับการจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสถานที่และยานพาหนะนั้น ขณะนี้ในส่วนของรถไฟฟ้าบีทีเอส ทางกรุงเทพมหานคร ก็ได้จัดลิฟต์โดยสารเพิ่มให้ผู้พิการแล้วทุกสถานี
นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า ในระหว่างการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ครั้งที่ 2 ถ้ามีเรื่องใดที่คนพิการยังไม่ได้รับการดูแล นายกรัฐมนตรีจะได้มอบนโยบายให้กับที่ประชุมเพื่อดำเนินการต่อไป
รายงานข่าวแจ้งว่า การประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ครั้งที่ 2 ที่มีนายกฯ เป็นประธาน เห็นชอบให้ผลิตล่ามภาษามือสำหรับผู้พิการทางหูอย่างมืออาชีพ โดยมีค่าตอบแทนเทียบเท่าวิทยากร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รักษาการแทนประธานสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยและคณะ ได้นำเสนอปัญหาของคนพิการพร้อมข้อเสนอให้รัฐบาลส่งเสริมและสนับสนุนในเรื่องต่างๆ อาทิ 1.การจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสถานที่และยานพาหนะที่เป็นหน่วยงานของภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ 2.ดำเนินการจัดการศึกษาของคนพิการให้มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ตามแนวนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาลและพระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ.2551 โดยพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนร่วมที่หลากหลาย อาจจะต้องมีการจัดตั้งโรงเรียนเฉพาะคนพิการขนาดเล็กในระดับจังหวัดหรือพื้นที่ รวมทั้งควรมีการปรับระบบการสนับสนุนสื่อการเรียนการสอนเฉพาะความพิการ
3.จัดให้มีมาตรการต่างๆ เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากข้อมูลข่าวสารสาธารณะของราชการและเอกชน วิทยุ โทรทัศน์หรือสื่อสิ่งพิมพ์ได้ทัดเทียมกับบุคคลทั่วไป เช่น การจัดระบบเว็บไซต์ที่คนพิการทางการมองเห็นสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ รวมทั้งขอให้รัฐบาลจัดสรรเครือข่ายคลื่นวิทยุเพื่อการอ่านหนังสือตลอด 24 ชั่วโมงให้ผู้ที่ไม่สามารถอ่านหนังสือได้ เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงองค์ความรู้ และการสนับสนุนให้มีล่ามภาษามือในรายการทางโทรทัศน์และในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา เพื่อช่วยเหลือผู้พิการทางการได้ยิน
4.ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในเขตท้องที่ ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นรับผิดชอบ 5.ให้คนพิการได้เข้าถึงบริการสาธารณสุข เสริมสร้างศักยภาพและความสามารถของคนพิการให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และขอให้ผลักดันกฎหมายทุกระดับที่เกี่ยวข้องกับการบริการสาธารณสุขและการแพทย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่คนพิการและเหมาะสมกับยุคสมัย
นอกจากนี้ ได้ขอให้มีการจัดการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ อย่างสม่ำเสมอเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้กับคนพิการ รวมทั้งขอให้นายกรัฐมนตรีช่วยดูแลเรื่องที่กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการถูกตัดงบประมาณในปีงบประมาณ 2553 และช่วยเร่งรัดรื่องการออกสลากพิเศษจำนวน 80,000 เล่ม เพื่อนำเงินเข้ากองทุนด้วย