ยอมรับกันหรือไม่ว่า คนเราต่างมีฮีโร มีคนพิเศษในดวงใจ มีไว้เพื่อเป็นกำลังใจ มีไว้เป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต สร้างให้เกิดความหวัง หรือจะเพื่ออะไรก็ตาม เชื่อว่าทุกคนทุกวงการ ต่างมีบุคคลพิเศษที่เขาสามารถนำเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจให้กับตัวเอง ไม่เว้นแม้แต่ในแวดวงคนพิการ
“วันนี้เราเชื่อว่า น้องหูหนวกทั้ง 8 คน ที่ทำงาน Call Center เอไอเอส กำลังกลายเป็นฮีโร่ของคนหูหนวก เพราะเขาเหล่านี้ได้เข้ามาจุดประกายความคิด ความหวัง สร้างความต้องการ สร้างความอยากที่จะเรียนหนังสือให้สูง เพราะเขาได้รับรู้แล้วว่าเขามีโอกาสที่จะได้ทำงาน มีอาชีพที่ดีและมั่นคง” อาจารย์คมคิด ศันสนะเกียรติ หัวหน้าล่าม ศูนย์การศึกษาพิเศษ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต กล่าว
ผู้พิการทางหู หรือผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ก็เป็นบุคคลอีกกลุ่มหนึ่งมีความต้องการ การยอมรับจากสังคม ต้องการได้รับโอกาสในการทำงาน เพื่อพวกเขาได้มีเวที มีสนามในการแสดงคุณภาพ ศักยภาพที่มีอยู่ให้ทุกคนได้เห็น การที่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ให้โอกาสทางอาชีพแก่คนหูหนวก ถือเป็นมิติใหม่ที่เข้ามาจุดประกายสร้างกระแสให้เกิดความคิด ความหวังกับผู้พิการได้รู้สึกว่า เขาก็มีโอกาส ที่จะมีหน้าที่การงานดีๆ มีรายได้ที่มั่นคง และที่สำคัญเป็นที่ยอมรับในสังคม
จากที่ผ่านมาคนหูหนวกส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับการเรียนการศึกษาค่อนข้างน้อย ส่วนมากเรียนจบระดับมัธยมหรือไม่ก็ ปวช. ปวส. ทั้งนี้ต่างคิดว่าเรียนไปสุดท้ายก็ไปขายของ กลับไปทำงานที่บ้าน เราจึงเห็นคนหูหนวกที่จบระดับปริญญาตรีค่อนข้างน้อย ซึ่งจากข้อมูลของ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพคนพิการแห่งชาติ พบว่า กว่า 100,000 คน ที่จดทะเบียนเป็นผู้พิการทางการได้ยินนั้น มีเพียง 1% หรือประมาณ 1,000 คนเท่านั้นที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี และในจำนวนนี้มีโอกาสได้เข้าทำงานในบริษัท ในองค์กรเอกชนไม่ถึง 10%
ส่วนใหญ่จะทำงานด้านการจัดเอกสาร การตรวจพิสูจน์อักษร ทำให้ผู้พิการทางการได้ยินส่วนใหญ่ ไม่ได้รับโอกาสในการนำความรู้ความสามารถที่มีมาใช้ในการทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ขณะที่คุณสมบัติของผู้พิการทางการได้ยินพบว่า มีความสามารถพร้อมเรียนรู้และหาประสบการณ์ใหม่ ทั้งมีความตั้งใจ มีสมาธิในการทำงานสูงกว่าคนปกติทั่วไป
นอกจากนี้สิ่งหนึ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการทำงานของคนกลุ่มนี้คือการติดต่อ สื่อสารกับคนในสังคมด้วยเพราะว่าเขาไม่ได้ยิน เขาพูดไม่ได้ การสื่อสารของเขาคือ ภาษามือ ซึ่งคนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยทราบและไม่เข้าใจจึงทำให้เกิดความกลัวที่จะสื่อสารกับคนปกติ จึงมักอยู่รวมกลุ่มเดียวกัน และด้วยข้อจำกัด ด้วยอุปสรรคต่างๆ ของคนหูหนวก จึงทำให้คนกลุ่มนี้มักจะอยู่ในโลกของตัวเอง
เอไอเอส มาเปิดมิติใหม่
มีคำกล่าวหนึ่งที่ว่า “คนพิการไม่ต้องการความสงสารและเห็นใจจากสังคม แต่เขาต้องการโอกาส ต้องการพิสูจน์ให้สังคมเห็นความสามารถที่มีของเขา ต้องการให้ทุกคนมองเขาคือคนธรรมดาคนหนึ่ง สามารถมีชีวิตอยู่ในสังคมร่วมกับคนปกติได้อย่างมีความสุข และไม่เป็นภาระของครอบครัวและสังคม”
ดังนั้น การเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคนหูหนวกของ เอไอเอส ที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ ถือเป็นมิติใหม่ และสำคัญ เนื่องจากพนักงาน Call Center ผู้พิการทางการได้ยิน ทั้ง 8 คน ที่ปฏิบัติงานร่วมกับ เอไอเอส กำลังกลายเป็นฮีโร่คนสำคัญของคนหูหนวก เพราะเขาเหล่านี้ได้เข้ามาจุดประกายความหวังและทำให้พวกเขาเห็นและคิดว่า ถึงจะหูหนวกเขาก็ได้รับโอกาสทางอาชีพ ทางการงานที่ดีและมั่นคง
ทั้งเป็นที่ยอมรับและสังคมได้เห็นคุณค่า เห็นศักยภาพการทำงาน การนำความรู้ความสามารถของคนหูหนวกมาใช้ ทำให้พวกเขาเกิดกำลังใจที่จะเรียน จะศึกษาต่อถึงระดับปริญญาตรี ปริญญาโท หรือไกลถึงระดับปริญญาเอก
“กฤษฎา กันทาเปี้ย หรือ ดุ๊ก” พนักงาน Call Center ผู้พิการ ของเอไอเอส กล่าวถึงวันแรกที่ได้รับรู้ว่า เขาได้งานทำ เขารู้สึกตื้นเต้นและดีใจเป็นอย่างมาก ที่สำคัญ ที่เอไอเอสเป็นที่แรกที่ให้โอกาสเขาได้ทำงาน เขาไม่คิดว่าจะมีองค์กร มีบริษัทเอกชนที่ไหนเปิดรับและให้คนหูหนวกได้ทำงานดีๆ ได้ใช้ความรู้ ความสามารถที่มีอย่างเต็มที่
ทุกวันนี้เขาได้ปฏิบัติงานอยู่ที่ Call Center เอไอเอส โดยร่วมงานกับที่นี่มาเป็นระยะเวลากว่า 1 ปีซึ่งนับแต่ก้าวแรกของการเข้ามาทำงานที่ Call Center บริษัทให้การอบรมพัฒนา ความรู้ความสามารถในการทำงาน การบริการแก่ลูกค้า ร่วมถึงการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนปกติในสังคมในที่ทำงาน
โดยบทบาทหน้าที่การงานของเขาและเพื่อนๆ จะให้บริการตอบคำถามข้อมูลต่างๆ ผ่านบริการที่เรียกว่า Real Talk ภาษามือ (iSign) ผ่านเว็บแคมจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีผู้พิการทางการได้ยินเป็นลูกค้าหลัก นอกจากนี้ยังให้บริการแก้ไขข้อมูล ปรับเปลี่ยน หรือยกเลิกข้อมูล เช่น กรณีลูกค้าติดต่อขอยกเลิก คอนเทนต์ต่าง ๆ ที่ไม่ต้องการ หรือโหลด GPRS โหลดเพลงคอลลิ่ง เมโลดี้
“จากวันแรกจนถึงวันนี้ ผมมีความสุข สนุกอย่างมากที่ได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับทุกคน ผมมีเพื่อนเพิ่มขึ้นเดิมที่มีเฉพาะเพื่อนหูหนวกด้วยกัน ที่สำคัญ พ่อ แม่ผมดีใจและภูมิใจมากเมื่อรู้ว่าผมได้งานทำที่ เอไอเอส ผมบอกกับพ่อ แม่ว่าผมจะตั้งใจทำงานให้ดีที่สุด ให้สมกับที่บริษัทให้โอกาสกับเรา” กฤษฎา หรือดุ๊ก เล่าอย่างมีความสุข
ขณะที่ “ผุษดี มีอำพล หรือ ฝ้าย” บอกว่า เคยมีประสบการณ์การทำงานจากที่อื่นมาก่อน ซึ่งงานที่ได้รับส่วนใหญ่ดูแลเกี่ยวกับเอกสารต่างๆ เช่น จัดเก็บ ถ่ายเอกสาร กระทั่งได้รับทราบว่า เอไอเอส เปิดโอกาสให้คนพิการหูหนวกเข้าทำงานในตำแหน่ง Call Center จึงเข้ามาสมัคร และต้องยอมรับว่าที่นี่ พร้อมให้เราทุกคนแสดงความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ ไม่ได้มองว่าเราเป็นคนพิการที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ เพราะจากขั้นตอนการคัดเลือก การสอบ การพิจารณา จะใช้รูปแบบเดียวกันกับเพื่อนๆพนักงานปกติ
จะต่างตรงที่มีอาจารย์ล่ามมาช่วยแปลภาษามือเพื่อง่ายและสะดวกในการสื่อสารหรือแม้แต่ช่วงของการประเมินผลจะมีหัวหน้า และอาจารย์ล่ามภาษามือมาร่วมกันพิจารณาผลการทำงานโดยเฉพาะในส่วนของการบริการ Real Talk ภาษามือ (iSign) ผ่านเว็บแคมจอคอมพิวเตอร์
นอกจากนี้ สิ่งที่ประทับใจมากกับการทำงานที่เอไอเอส คือ พี่ๆ เพื่อนๆ ในทีม ในบริษัททุกคน เขาพยายามที่จะสื่อสารกับเรา โดยเรียนรู้ที่จะใช้ภาษามือจากเรา ต่างเอื้ออาทรแนะนำซึ่งกันและกันเพื่อสื่อสารร่วมกันได้ ไม่ทำให้เกิดช่องว่างเกิดความห่างเหิน
“ดีใจมากเลยที่ได้ทำงานที่นี่ นอกจากจะได้งาน ยังได้เพื่อน ที่สำคัญได้มีโอกาสพูดคุยกับพี่ๆ เพื่อนคนปกติในบริษัท”
ส่วน “พัชรพร นิธิอนันต์สกุล หรือ ยุ้ย” หนึ่งในทีมพนักงาน Call center ผู้พิการ บอกว่า ดีใจมาก โดยเฉพาะแม่ดีใจมากๆ เมื่อรู้ว่าได้งานทำที่เอไอเอส เพราะตั้งแต่เรียนจบปริญญาตรี มา ไปสมัครงาน ที่ไหนก็ไม่มีใครรับ จนเริ่มท้อและอยากจะกลับไปทำงานที่บ้านต่างจังหวัด แต่เมื่อทราบข่าวว่า เอไอเอส เปิดโอกาสพร้อมรับคนหูหนวกเข้าทำงานจึงมาสมัคร จนกระทั่งผ่านขั้นตอน ผ่านกระบวนต่างๆจนได้รับเลือกเข้ามาทำงาน และที่ยิ่งดีใจมากขึ้น
เมื่อรู้ว่าที่นี่ให้สิทธิ ให้สวัสดิการต่างๆ แก่พนักงานคนหูหนวกทุกคน เหมือนกับพนักงานปกติทั่วไปของบริษัท เท่าเทียมกัน ทั้งระดับเงินเดือน เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่วางไว้ แม้แต่สวัสดิการการดูแลการรักษาพยาบาลในเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ทุกคนจะได้รับสิทธิการใช้บริการเหมือนกันทุกประการ
ดังนั้น จึงอยากที่จะเห็นทุกคนในสังคมให้โอกาสผู้พิการ ไม่ว่าเขาจะพิการประเภทใด ต่างต้องการที่จะได้รับโอกาส ได้รับการยอมรับจากสังคม ว่าเขาคือบุคคลคนหนึ่งในสังคมที่มีความรู้ ความสามารถ ทำประโยชน์และไม่เป็นภาระต่อครอบครัว และสังคม การที่คนในสังคมให้โอกาสทั้งด้านการเรียนรู้ การศึกษา และด้านอาชีพการงานถือเป็นสิ่งที่พวกเขาเหล่านี้จะภาคภูมิใจในตนเองมาก