หากใครยังติดตาตรึงใจกับ “ละครเรื่องกัลปังหา” บทประพันธ์จากปลายปากกาของ “พนมเทียน” ย่อมต้องจำความสวยงามและบรรยากาศบนหาดแฆแฆ ในอำเภอปะนาเระ จ.ปัตตานีได้ติดตา ซึ่งน้อยคนนักที่จะรู้ว่าเมืองเล็กๆ แห่งนี้มีมนต์เสน่ห์ที่ชวนให้หลงใหลเพียงไหน และไม่เพียงแต่ชายหาดงามเท่านั้นที่ขึ้นชื่อ ใน อ.ปะนาเระยังมีน้ำผึ้งแว่นหวานเจี๊ยบขึ้นชื่อเป็นสินค้าพื้นประจำเมืองอีกอย่างหนึ่ง ที่เมื่อไปเยือนปัตตานีแล้วจะต้องหยิบจับมาเป็นของฝากกัน
แต่วันนี้…สิ่งที่น่ากังวล คือ ต้นโหน้ดหรือต้นตาลโตนดเริ่มจะหายไปเรื่อยๆ หายไปพร้อมกับคนขึ้นตาลเพื่อไปปาดตาล เอาน้ำตาลมาทำ “น้ำผึ้งแว่น” และไม่ค่อยมีใครยึดอาชีพนี้เป็นหลักอีกต่อไป
**ของฝากจากปะนาเระ
ลุงนิพนธ์ ลาพเจือจันทร์ ชาวอำเภอปะนาเระ บอกว่า เมื่อก่อนนี้นอกจากอาชีพประมงที่ทำกันทั่วไปใครๆ ในอ.ปะนาเระ อีกอาชีพหนึ่งที่คนพื้นที่ทำกันสืบต่อมาหลายชั่วอายุคน ก็คือ การนำน้ำตาลจากต้นตาลโตนดมาทำเป็นน้ำผึ้งแว่น เพราะในอดีตน้ำตาลทรายยังไม่มี และรสหวานจากตาลโตนดมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ประกอบกับอาชีพหลักของผู้คนในยุคนั้นสมัยนั้นก็คือการทำเกษตรกรรม ผู้คนจึงนิยมทำอาชีพนี้กันมาก
ทั้งนี้ น้ำหวานจากตาลโตนดเอามาทำอะไรได้หลายอย่าง เช่น นำมาเคี่ยวจนข้นและเข้าแว่นพิมพ์เพื่อทำเป็นน้ำผึ้งตาลโตนดหรือน้ำตาลแว่น ซึ่งสามารถไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นทำอาหารหรือขายเป็นของฝากนักท่องเที่ยว แต่ส่วนใหญ่ที่นิยมกันก็คือเอาไปทำขนมพื้นเมืองของปักษ์ใต้ เช่น ขนมโค เป็นต้น
หรือถ้าขี้เกียจต้มก็ปล่อยไว้เฉยๆ ภายใน 1 อาทิตย์ น้ำตาลก็จะกลายเป็นน้ำส้ม ซึ่งน้ำส้มที่ว่า ไม่ใช่เอาไว้กินแก้กระหายเหมือนน้ำอัดลม แต่เอาไว้ประกอบการแกง เช่น แกงส้ม หรือใส่ในน้ำพริกก็อร่อยไม่เบาโดยไม่ต้องใช้มะนาว
“ตอนที่ยังเป็นหนุ่มตามเส้นทางสองข้างถนนสายปัตตานีจะพบเห็นชาวบ้านปะนาเระนำผลตาล น้ำตาลสด น้ำผึ้งแว่นมาวางขายเป็นของฝากพื้นเมืองเป็นเครื่องแสดงว่าชาวปะนาเระปลูกตาลกันมาก เช่นเดียวกับที่ยะหริ่งซึ่งเป็นอำเภอที่อยู่ติดกันนั้นก็มีชื่อเสียงเรื่องการทำน้ำตาลไม่แพ้กัน แต่เดี๋ยวนี้มีให้เห็นน้อย นอกจากจะมีงานใหญ่ระดับจังหวัดจึงจะขนมาขายกัน” ลุงนิพนธ์ เล่าย้อนถึงภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตเปรียบเทียบกับในปัจจุบัน พร้อมทั้งบอกด้วยว่า สิ่งที่หนักใจสำหรับคนรุ่นเก่าก็คือ หาคนที่จะมาสานต่อการทำอาชีพนี้ค่อนข้างยาก
**ภูมิปัญญาที่ไร้ผู้สืบทอด
ลุงมนัส ยศศิริ วัย 52 ปี ซึ่งปัจจุบันเป็นครู ร.ร.บ้านกลาง อ.ปะนาเระ เป็นอีกคนหนึ่งที่บอกว่า ภาพที่คุ้นชินในวัยเด็กคือ จะเห็นผู้ชายในหมู่บ้านพกมีดปาดตาล ปีนต้นตาลด้วยเท้าเปล่า พร้อมเสียง "ป็อก-แป็ก" ที่เกิดจากกระบอกไม้ไผ่ที่ห้อยติดเอวไปด้วยกระทบกันไปมา
ลุงมนัสบอกว่า ในตอนนั้นแกยังไม่รู้รายละเอียดของมันมากนัก เพียงแต่ตระหนักและคิดเสมอว่าเป็นเรื่องของภูมิปัญญาที่คนรุ่นหลังอย่างแกจะต้องช่วยรักษาไว้
อย่างไรก็ตาม แม้ลุงมนัสจะมีอาชีพเป็นครูสอนหนังสือ แต่ก็ยังคงปีนต้นตาล และปาดตาลอยู่ แม้จะไม่ใช่งานหลัก แต่ถือว่ายังได้ทำตามความตั้งใจ
"คนรุ่นสุดท้ายที่ทำอย่างจริงจังอายุประมาณ 50 ปีขึ้นไป ถึง 60 ปี มีคนที่เป็นงานจริงๆ น้อย เรียกว่าถ้าใครยึดอาชีพนี้เป็นงานหลักก็หนัก อีกอย่างที่คนรุ่นใหม่เขาไม่ค่อยทำกันแล้วเพราะต้องออกจากพื้นที่ไปเรียนหนังสือ จึงไม่เห็นคนหนุ่มรุ่นอายุ 20-30 ปีแถบนี้มากนัก ประกอบอาชีพอย่างอื่น ต่อไปถ้ามันหายก็หายพร้อมกับคนยุคเก่า ลุงอาจจะเป็นรุ่นสุดท้ายที่จะปีนต้นตาลแล้วก็เป็นได้"
ลุงมนัส บอกว่า งานขึ้นตาล เคี่ยวตาล ไม่ต่างกับงานสกุลช่างโบราณเลย เพราะเป็นงานที่ต้องทำสืบทอดแบบรุ่นต่อรุ่น ในบางบ้านต้องเจอกับปัญหาไร้ผู้สืบทอดเพราะมีลูกหลานเป็นผู้หญิง แต่ด้วยงานนี้ต้องใช้ทักษะและแรงค่อนข้างมาก จึงสงวนไว้ให้เฉพาะผู้ชายเท่านั้น สำหรับลูกผู้ชายถ้าไม่ออกจากบ้านไปเรียนหนังสือก็หันไปทำอาชีพอื่นที่มีความเสี่ยงน้อยกว่าการปีนต้นตาลที่มีความสูงกว่า 20 เมตรทุกเช้า-เย็นโดยที่ค่าตอบแทนมีไม่ตลอดทั้งปี
“รายได้ที่ตอบกลับมาจะว่าคุ้มก็คุ้ม ถ้าเป็นคนที่ไม่ได้ใช้อะไรมาก และถ้าขยันก็ได้มาก ขี้เกียจทำก็ได้น้อย แต่ว่าเราไม่ได้ขึ้นตาลได้ทั้งปี ปีหนึ่งทำได้ดีที่สุดแค่ 6 เดือน ถ้าคนที่ขยันก็ทำได้ประมาณ 20 ต้น ปีนวันละ 2 ครั้ง 80 เที่ยวต่อวัน เช้าวันละ 20 ครั้ง เย็น 20 ครั้ง ก็ได้อย่างน้อย 600 บาทต่อวัน” ลุงมนัสให้ภาพ
**หลักสูตรท้องถิ่นยังห่างไกล
ลุงมนัส ให้ข้อมูลว่า บรรดากลุ่มผู้ใหญ่ในหมู่บ้านเคยรวมตัวกันและหารือกันมาระยะหนึ่งแล้วว่าหากขาดคนหนุ่มมาทำงานตรงนี้แล้ว อาชีพการปีนต้นตาล ปาดตาล และท้ายที่สุดน้ำผึ้งแว่นอาจจะหายจากปะนาเระก็เป็นได้ จึงมีคนรุ่นครูกลับมาอนุรักษ์อาชีพเก่าแก่นี้ไว้ ทว่าก็ทำได้เพียงการทำงานแบบคนแก่ๆ ที่ยืดอายุงานไปได้ไม่กี่ปีเท่านั้น
และเมื่อถามว่าความเป็นไปได้ของการนำภูมิปัญญานี้มาบรรจุในหลักสูตรท้องถิ่นมีมากน้อยเพียงไหน คุณครูบ้านกลางได้แต่ส่ายหัวและบอกเพียงว่าการทำเป็นหลักสูตรท้องถิ่นอาจจะยากสำหรับการทำน้ำผึ้งแว่น เนื่องจากเป็นท้องถิ่นที่ไม่เหมือนวิชาท้องถิ่นทั่วไปไม่ใช่ว่าอ่านหนังสือแล้วจะเข้าใจ ต้องสอนด้วยวิธีการปฏิบัติ แต่เพราะอาชีพนี้มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ทุกเมื่อ แม้จะเป็นภูมิปัญญา หรือจัดทำเป็นหลักสูตรท้องถิ่นได้จริงก็เสี่ยงและคงไม่มีพ่อแม่ผู้ปกครองคนใดยอมให้ลูกชายหรือลูกสาวตนเองมาเสี่ยงต่อการเจ็บตัวอยู่แล้ว
“ถ้าพูดคุยเพื่อขอความรู้ทั่วไปอาจจะให้ได้ แต่ถ้าให้จัดหลักสูตรเป็นทางการนั้นยากสำหรับวิชานี้ ถ้าเป็นวิชาจักสานทำได้หรือภาษาถิ่น หรือภูมิปัญญาอย่างอื่นคงทำได้ไม่ยาก หรือถ้าต้องสอนกันจริงๆ ก็ใช่ว่าคนโตแล้วแต่ไม่เคยปีนต้นตาลมาก่อนก็ทำไม่ได้หรืออาจจะยาก เหมือนไม้แก่ดัดยาก เพราะอย่างที่บอกงานนี้ต้องใช้ทักษะเฉพาะทางสูง ลุงฝึกตั้งแต่อายุ 12 ขวบ ตามพ่อไปด้วยก็เลยได้ฝึก พ่อสอนให้ทุกวันได้ติดนิสัยมา ใช้เวลานานมากในการฝึก เมื่อก่อนพ่อยากจนที่บ้านก็ทำน้ำตาลขาย ตั้งแต่กิโลละ 2 บาท ตอนนี้กิโลละ 60 บาท เรียนหนังสือจบมาได้ก็เพราะน้ำตาล ทุกวันนี้ก็เลยต้องทำอยู่” ลุงมนัส กล่าวสรุป