xs
xsm
sm
md
lg

เผย ขรก.หญิงขึ้นระดับสูงน้อย ระบุ สธ.มีผู้บริหารหญิงน้อยสุด พม.มากสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สค.เผยตัวเลขจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ชี้ ข้าราชการหญิงมากกว่าชาย แต่ก้าวสู่ตำแหน่งระดับสูงน้อยกว่า ระบุ กระทรวงหมอมีผู้บริหารหญิงน้อยสุด เพียงร้อยละ 3 ส่วนกระทรวงพม.มีผู้บริหารหญิงมากสุดถึงร้อยละ61.54

วันนี้ (2 ก.ค.) นายศุภฤกษ์ หงษ์ภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กล่าวว่า สค.ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ จัดทำรายงาน มิติหญิง-ชาย : ความแตกต่างบนความเหมือน พบว่า ด้านเป็นผู้นำ บทบาทผู้หญิงในภาคธุรกิจเอกชน ระดับตัดสินใจในนโยบายองค์กร ในปี 2550 สัดส่วนผู้หญิงเป็นกรรมการบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 218 แห่ง มีเพียงร้อยละ 22 กรรมการในนิติบุคคล บริษัทมหาชนที่จดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ มีเพียงร้อยละ 35.37

ส่วนภาคราชการผู้หญิงรับราชการมากกว่าผู้ชาย แต่ก้าวสู่ผู้บริหารระดับสูงได้น้อยกว่าผู้ชาย ปี 2550 โดยข้าราชการส่วนกลางร้อยละ 69.84 ส่วนภูมิภาค ร้อยละ 17.45 และส่วนท้องถิ่น ร้อยละ 12.70 พบว่า มีข้าราชการหญิงร้อยละ 51.9 มากกว่าชายเล็กน้อย โดยผู้ชายรับราชการเป็นตำรวจ อัยการ ตุลาการเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ผู้หญิงเป็นข้าราชการครู บุคลากรทางการศึกษาซึ่งครึ่งหนึ่งทำงานกระทรวงศึกษาธิการ

ภาพรวมผู้หญิงก้าวสู่ตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงในวงราชการไม่ถึง 1 ใน 4 ของผู้บริหารทั้งหมด โดยปี 2550 ผู้หญิงในตำแหน่งปลัดกระทรวงลดลงเหลือเพียงร้อยละ 5.26 ต่ำกว่าช่วงปี 2547-2549 ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 10 ขณะที่ตำแหน่งเลขาธิการหรือผู้อำนวยการระดับ 11 และรองปลัดระดับ 10 ผู้หญิงยังรักษาตำแหน่งไว้ได้

นายศุภฤกษ์ กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณารายกระทรวงพบว่า กระทรวงสาธารณสุข มีสัดส่วนผู้บริหารหญิงต่ำที่สุดเพียงร้อยละ 3.03 กระทรวงคมนาคม ร้อยละ 7.14 โดยกระทรวงศึกษาธิการ มีข้าราชการหญิงสูงกว่าชายมากถึงร้อยละ 73.69 แต่มีผู้บริหารหญิงไม่มากเท่าที่ควร คือ มีร้อยละ 36.84 ขณะที่กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มีผู้บริหารหญิงมากที่สุดร้อยละ 61.54 กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และกระทรวงพาณิชย์มีผู้บริหารหญิงร้อยละ 40 และ 38.71 ตามลำดับ

ทั้งนี้ ปี 2548-2550 พบว่า กลุ่มข้าราชการด้านยุติธรรมและคดีแทบไม่มีผู้หญิงในระดับตัดสินใจในกระบวนการยุติธรรมเลย ไม่มีผู้หญิงก้าวหน้าถึงระดับอัยการสูงสุด และรองฯ รวมทั้งผู้ตรวจราชการอัยการ อธิบดีอัยการฝ่ายเขตแม้แต่คนเดียว กลุ่มข้าราชการตุลาการมีผู้หญิง 2คน ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ประธานแผนกคดี จากตำแหน่งระดับสูงมี 70 คน เช่นเดียวกับกลุ่มข้าราชการตำรวจไม่มีผู้หญิงในระดับผู้บัญชาการ รองผู้บัญชาการและผู้บังคับการ ส่วนรองผู้บังคับการมีผู้หญิงไม่ถึงร้อยละ 1 ขณะที่ผู้บริหารหญิงในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญมีแนวโน้มที่ดี มีร้อยละ 43.75 ในปี 2548 ร้อยละ 44.44 ในปี 2549 และร้อยละ 35.29 ในปี 2550

ส่วนภาคการเมือง ผู้หญิงได้รับการสรรหาและเลือกตั้งเป็นตัวแทนรัฐสภาน้อย ปี 2550-2556 ผู้หญิงได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ว.ร้อยละ 16.22 และรับการสรรหาเป็น ส.ว.ร้อยละ 15.79 จากทั้งหมด 150 คนน้อยกว่าผู้ชายมาก ส่วนส.ส.ทั้งแบบสัดส่วนและแบ่งเขตในปี 2550 เป็นหญิงน้อยกว่าชายมาก คือ ร้อยละ 11.67 จังหวัดที่ไม่มีผู้หญิงรับเลือกตั้งเป็นส.ส.เลยมีถึง 44 จังหวัด อยู่ในภาคกลาง 15 จังหวัด ภาคเหนือ ใต้ ภาคละ 10 จังหวัด และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 9 จังหวัด ทำให้โอกาสผู้หญิงมีบทบาทในการตัดสินใจระดับนโยบายรัฐ หรือร่วมใน ครม.น้อยมาก

“เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนรัฐมนตรีหญิงและชายพบว่า ครม.3 ชุด ระหว่างปี 2548-2551 มีรัฐมนตรีหญิงไม่เกินชุดละ 3 คน คิดเป็นสัดส่วนรัฐมนตรีหญิงใน ครม.แต่ละชุด ร้อยละ 5.56 ร้อยละ 8.57 และร้อยละ 7.89 ตามลำดับ ส่วนระดับท้องถิ่นในปี 2550 มีผู้หญิงรับเลือกตั้งเป็นนายกอบจ. นายกเทศมนตรี นายกเทศบาลตำบล นายก อบต. เป็นต้น เพียงร้อยละ 11.25 ส่วนผู้หญิงรับเลือกตั้งเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้านเพียงร้อยละ 4.5”

ผู้หญิงในงานสื่อสารมวลชน พบว่า มีบทบาทลดลง โดยข้อมูลปี 2545-2549 สื่อมวลชนที่มีบัตรประจำตัวออกโดยกรมประชาสัมพันธ์ มีร้อยละ 38.39 ขณะที่ปี 2550 ลดเหลือร้อยละ 28.53 โดยผู้หญิงจะอยู่ในงานด้านวิทยุโทรทัศน์ร้อยละ 33.53 สูงกว่าด้านหนังสือพิมพ์ที่มีร้อยละ 26.24
กำลังโหลดความคิดเห็น