ป่วยหวัด 2009 เพิ่มอีก 83 ราย ยอดป่วยพุ่ง 1,556 ราย ในจำนวนนี้หายเป็นปกติแล้ว 1,523 ราย หญิงวัย 21 ปี อาการยังทรงตัว ไข้ลด อยู่ไอซียู แพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิด ด้าน"วิทยา-มานิต" ตบเท้าเข้าเยี่ยมนักข่าวช่อง 3 ที่ป่วยหวัด 2009 เจ้าตัวเผยพร้อมเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้ความรู้ประชาชน ด้าน อภ.ขอเวลา 3 เดือนผลิตวัคซีนหวัดชนิดพ่น
วันนี้ (2 ก.ค.) สำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 วันนี้ว่า พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เพิ่มอีก 83 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 1,556 ราย รักษาหายแล้ว 1,523 ราย นอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 28 ราย เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 1 ราย คือหญิงวัย 21 ปี ที่ จ.ชลบุรี และเสียชีวิตก่อนหน้านี้ 5 ราย
นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดฯ สธ.กล่าวว่า สำหรับอาการของผู้ป่วยหญิงวัย 21 ปี ที่พักรักษาอาการอยู่ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ใน จ.ชลบุรี นั้น ล่าสุด ผู้ป่วยยังอาการทรงตัว ไข้ลดลง แต่ยังคงพักรักษาตัวอยู่ภายในห้องไอซียู ซึ่งแพทย์ได้เฝ้าติดตามอาการอย่างใกล้ชิด
นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สธ.เตรียมปรับแผนรับมือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ โดยปรับเพิ่มช่องทางรักษาให้มีช่องทางเฉพาะสำหรับไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ และเตรียมให้โรงพยาบาลเอกชนมีช่องทางพิเศษเช่นกัน ส่วนตัวอย่างเชื้อเต็มไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่จากรัสเซียถึงไทยแล้ว ให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เตรียมศึกษาพัฒนาเป็นวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ต่อไป
อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยโรคนี้เกิดขึ้นได้กับผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ พักผ่อนไม่เพียงพอ ดังนั้น จึงขอให้วันหยุดยาวติดต่อกันช่วงนี้ ให้ถือโอกาสดูแลสุขภาพ พักผ่อนให้เพียงพอ
"วิทยา-มานิต" ตบเท้าเยี่ยมนักข่าวช่อง 3
เมื่อเวลา 12.00 น. นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เดินทางเข้าเยี่ยมอาการป่วยของ นางนพขวัญ นาคนวล ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ประจำกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช1 เอ็น 1 ที่พักรักษาตัวอยู่ที่ห้องปลอดเชื้อ สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ โดยได้สอบถามอาการผ่านทางโทรศัพท์ด้านนอกห้อง ซึ่งผู้ป่วยพูดคุยด้วยสีหน้าแจ่มใส รื่นเริงและมีอารมณ์ดี
นายวิทยา กล่าวว่า ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น ไข้ลดลง หากผู้ป่วยหายเป็นปกติจะเชิญให้มาเป็นพรีเซ็นเตอร์รณรงค์ให้ประชาชนเข้าใจว่าโรคนี้ไม่น่ากลัว และอาการไม่รุนแรงหากร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่ดี อีกทั้งผู้ป่วยมีโรคประจำตัวเป็นหอบหืด แต่มีความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้ดีเมื่อมีไข้แล้วไข้ไม่ลดลงภายใน 2 วันรีบไปพบแพทย์ จึงเป็นตัวอย่างที่ดีที่จะเป็นผู้รณรงค์
“ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่เข้าทำความสะอาดห้องนักข่าวประจำกระทรวงสาธารณสุขที่บริเวณอาคารสำนักงานปลัดสธ.แล้ว เพราะทราบว่ามีนักข่าวหลายคนเริ่มมีอาการไข้และไอ แต่บางรายเมื่อรับประทานยาอาการก็หายแล้ว โดยไม่รู้ว่าติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009หรือไม่ ส่วนบางรายที่ยังไม่หายป่วยก็หยุดงานพักผ่อนอยู่ที่บ้าน”นายวิทยากล่าว
นายวิทยา กล่าวต่อว่า สธ.ได้เชิญประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ จาก 28 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามผลการดำเนินงาน และปรับแผนปฏิบัติการควบคุมป้องกันโรคให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และในภาคบ่าย จะประชุมคณะอนุกรรมการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและประชาสัมพันธ์ เพื่อจัดทำแผนการสื่อสารประชาสัมพันธ์ข้อมูลโรคไข้หวัดใหญ่ ให้ประชาชนเกิดความตระหนัก ไม่ตื่นตระหนก และร่วมมือกันควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งจะมีผลลดจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิต
ต่อมาเวลา 13.00 น. นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เดินทางเข้าเยี่ยมนางนพขวัญเช่นกัน โดยนายมานิตกล่าวว่า แพทย์ได้ให้การดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงเพราะมีโรคประจำตัวเป็นโรคหอบหืด โดยให้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์จนอาการดีขึ้นแล้ว ไม่น่าเป็นห่วง คาดว่าอีกประมาณ 2 วันแพทย์จะอนุญาตให้กลับไปพักรักษาตัวที่บ้าน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สามีของผู้ป่วยได้เข้าพักรักษาตัวที่ห้องปลอดเชื้อของสถาบันนี้เช่นกัน หลังจากที่มีอาการไข้สูงเมื่อคืนวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมาแต่อาการไม่น่าห่วง ซึ่งตนได้หารือกับแพทย์อาจจะย้ายผู้ป่วยทั้ง 2 รายมารักษาตัวในห้องเดียวกัน
นายมานิต กล่าวต่อว่า หลังจากที่มีผู้เสียชีวิต 5 ราย กระทรวงสาธารณสุขได้ประชุมผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อปรับแผนบางส่วน โดยจะให้โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ที่มีผู้ป่วยมาก จัดทีมแพทย์รักษาโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ และไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลด้วย รวมทั้งให้จัดทำช่องทางบริการพิเศษ เพื่อแยกจากผู้ป่วยรายอื่น ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ในช่วงแรกจะดำเนินการในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขกว่า 800 แห่งก่อน และจะขยายไปโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศต่อไป
“จำนวนผู้ป่วยที่นอนรักษาในโรงพยาบาลที่เพิ่มขึ้น ถือเป็นเรื่องปกติ เป็นไปตามจำนวนผู้ติดเชื้อที่มากขึ้น รายใดที่แพทย์เห็นว่าน่าจะต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ก็จะให้นอนรักษาในโรงพยาบาลและมีทีมแพทย์ดูแล รายใดที่มีอาการน่าวิตก ก็จะมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากกรมการแพทย์และทบวงมหาวิทยาลัย มาร่วมด้วย แผนที่ใช้ในขณะนี้เหมือนกับแผนที่ใช้รับมือโรคไข้หวัดนกทุกประการ”นายมานิตกล่าว
นายมานิต กล่าวด้วยว่า สำหรับในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาซึ่งมีวันหยุดยาวติดกัน 5 วัน ได้สั่งการให้นักวิชาการ จัดทำแนวทางคำแนะนำสำหรับนักท่องเที่ยว นักเรียน ในการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ นักเรียนที่ป่วยและหยุดเรียนขณะนี้ ขอให้หยุดพักที่บ้านจริงๆ ไม่ออกเรียนกวดวิชาหรือเล่นเกม เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสพักผ่อน ส่วนโรงเรียนกวดวิชาและร้านเกม ขอให้ทำความสะอาดสถานที่ อุปกรณ์ต่างๆ ในช่วงวันหยุดยาว 5 วันนี้ด้วย
นักข่าวช่อง 3 เสนอตัวเป็นพรีเซ็นเตอร์ ให้ความรู้ปชช.
นางนพขวัญ นาคนวล อายุ 40 ปี ผู้สื่อข่าวช่อง 3 ที่ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ซึ่งเป็นผู้ป่วยโรคนี้ที่ยอมเปิดเผยตัวเป็นคนแรกในจำนวนผู้ป่วยของประเทศไทยกว่า 1.5 พันราย กล่าวว่า ยินดีหากสธ.จะเชิญให้เป็นพรีเซ็นเตอร์รณรงค์ถือเป็นวิทยาทานให้กับประชาชนทั่วไป ซึ่งบริษัทต้นสังกัดอนุญาตเรียบร้อยแล้วที่จะให้มีการเปิดเผยตัว ขอย้ำว่าโรคนี้ไม่น่ากลัว มีอาการเหมือนไข้หวัดทั่วไป คือ มีไข้ ปวดหัว ปวดเมื่อยร่างกาย ไอและจาม ซึ่งตนไม่ได้มีอาการรุนแรงมากกว่านี้แม้จะเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัวก็ตาม
“ไม่รู้ว่าติดเชื้อจากที่ไหนเพราะลงไปทุกพื้นที่ที่มีข่าวว่ามีการแพร่ระบาดของโรค โดยวันอาทิตย์ที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา เริ่มมีอาการไข้สูง กินยาลดไข้เป็นเวลา 2 วันแล้ว ไข้ไม่ลดลง จึงไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง เมื่อแพทย์ทราบว่ามีประวัติที่อาจจะติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่จึงบอกให้ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐ วันอังคารที่ 30 มิ.ย.ได้เข้าพักรักษาตัวที่สถาบันโรคทรวงอก แพทย์ได้ส่งเชื้อตรวจและให้ยาโอเซลทามิเวียร์ต่อเนื่องโดยไม่มีอาการข้างเคียงใดๆ”นางนพขวัญกล่าว
อภ.เผยขอเวลา 3 เดือนผลิตวัคซีนแบบพ่น
ด้านนพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม(อภ.) กล่าวว่า การส่งเชื้อไวรัสเป็นที่จะนำมาผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่พันธุ์ใหม่ 2009 จากเดิมที่จะมาถึงไทยในวันที่ 2 กรกฎาคม ได้เลื่อนมาวันที่ 12 กรกฎาคมนี้ พร้อมกับผู้เชี่ยวชาญการผลิตวัคซีนเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศรัสเซีย โดยจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนในการผลิตวัคซีนต้นแบบชนิดพ่นที่ห้องปฏิบัติการอาคารปฏิบัติการควบคุมและประเมินคุณภาพทางเภสัชศาสตร์และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จ.นครปฐม รวมทั้งมีการทดลองในสัตว์และมนุษย์ คาดว่าจะผลิตได้สำเร็จภายในเดือนต.ค.-พ.ย.นี้
“สำหรับโรงงานต้นแบบที่มหาวิทยาศิลปากร มีกำลังในการผลิต 2.5-2.8 ล้านโดส นอกจากนี้ได้เตรียมหาโรงงานที่มีความพร้อมในการผลิตวัคซีนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้ 3 เท่า เพื่อนำมาใช้เพียงพอต่อความต้องการ ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบโรงงานที่ จ.นครปฐม โดยคาดว่าจะได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตที่ดี (จีเอ็มพี) ภายใน 1-2 วันนี้”นพ.วิทิตกล่าว
หญิงวัย 57 ปี ออกจากไอซียู นอนรพ.ต่ออีก1 สัปดาห์
ต่อมาเมื่อเวลา 18.00 น. นายวิทยา เดินทางเข้าเยี่ยมผู้ป่วยหญิง อายุ 57 ปี ที่โรงพยาบาลธนบุรี 1 ซึ่งป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ก่อนหน้านี้มีอาการรุนแรง ภาวะปอดอักเสบ ต้องนอนพักอยู่ไอซียู ขณะนี้ย้ายออกมาพักฟื้นในห้องพักผู้ป่วยแต่ยังต้องให้ออกซิเจนทางจมูก คาดว่าต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลต่ออีก 1 สัปดาห์ จึงสามารถกลับบ้านได้
ผู้ป่วยรายดังกล่าว ให้สัมภาษณ์ว่า ก่อนหน้านี้ไม่เคยรับรู้ว่า โรคหวัดชนิดนี้เป็นอย่างไรเมื่อเป็นด้วยเองทำให้เข้าใจพื้นฐานของโรคเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะว่าไปโรคนี้ก็น่ากลัวหากเราไม่มีการเตรียมตัวในการป้องกันตัวเองไม่ให้เกิดโรคแต่ก็เชื่อมั่นว่าระบบการแพทย์ในเมืองไทยสามารถช่วยรักษาให้หายดีได้จึงไม่น่าเป็นห่วงอะไร ดังนั้น ขอฝากบอกว่าประชาชนไม่ต้องตื่นตระหนกแต่ให้ตั้งสติ ในการดูแลตนเอง หากทำได้แบบนี้ก็ไม่จำเป็นต้องกลัวโรคนี้ นอกจากนี้ยังมีการหารือในการออกแนวทางปฏิบัติให้แพทย์จ่ายยาโอเซลทามิเวียร์ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและผู้ป่วยในกลุ่มเสี่ยงโดยไม่จำเป็นต้องรอผลการตรวจยืนยันจากห้องปฏิบัติการแต่ยังมีแพทย์บางส่วนที่ยังลังเลในการจ่ายยาซึ่งหากพบกรณีมีปัญหาให้ประสานมาขอความช่วยเหลือมาที่สธ.
“ยุทธศาสตร์การดูแลรักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่พันธ์ใหม่ 2009 ให้นักวิชาการดูรายละเอียดและปรับปรุงแนวทางในการดำเนินการว่าทำอย่างไรได้บ้างที่จะควบคุมการระบาดของโรค และทำความเข้าใจให้ประชาชนเข้าใจมากกว่านี้ เพราะทุกวันนี้ประชาชนอ่านเพียงพาดหัวข่าว แต่ไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรเมื่อป่วย จึงจำเป็นต้องมีการส่งข้อความที่สั้น เข้าใจง่าย และส่งไปในหลายช่องทางที่เน้นความถี่มากๆ ขอให้เชื่อมั่นมาตรฐานการรักษาของแพทย์ไทยเพราะเชื่อว่าไม่ด้อยไปกว่าชาติยุโรป ซึ่งไทยถือว่ามีประสบการณ์มากกว่ากว่า เนื่องจากมีประสบการณ์จากไข้หวัดนก และซาร์สมาแล้ว”นายวิทยา กล่าว